ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBEIC) คงประมาณการอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกทั้งปี 2561 ที่ 8.5% โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้ในอัตราที่น้อยกว่าในช่วงครึ่งปีแรก (11.0%) ตามทิศทางการค้าโลก และปัจจัยฐานสูงในปีก่อนหน้าที่จะเริ่มมีผลมากขึ้น รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบมากขึ้นในบางหมวดสินค้า อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าการส่งออกยังเติบโตได้จากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักที่ยังขยายตัว และราคาสินค้าส่งออกที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ต้องจับตาผลกระทบการส่งออกไทยจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าเพิ่มเติมระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยการส่งออกไทยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้นจากการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มเติมที่อัตรา 10% โดยเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 24 กันยายน และจะเพิ่มเป็น 25% ในเดือนมกราคม 2562 มูลค่ารวมกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้สินค้าส่งออกไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน เช่น ยางแผ่น ไม้แผ่นและไม้แปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น อาจได้รับผลกระทบ
อีไอซีประเมินว่า สัดส่วนมูลค่าสินค้าส่งออกสินค้าในหมวดดังกล่าวที่ไทยส่งไปจีนคิดเป็นสัดส่วนราว 4.1% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย ขณะที่มาตรการตอบโต้ของจีนที่มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ในครั้งล่าสุดนี้ จะยังไม่กระทบการส่งออกไทยมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับการส่งออกไทยค่อนข้างน้อย ในทางกลับกัน การส่งออกของไทยอาจได้รับประโยชน์จากมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยจากรายงานสำนักงานนโยบายยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่าสินค้าส่งออกของไทยมีศักยภาพในการทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ สูงได้แก่ ข้าวสี ยางแท่ง กรดซิติก และเครื่องยนต์สันดาปภายใน
อย่างไรก็ดี อีไอซีคาดมูลค่าการนำเข้าทั้งปี 2561 จะขยายตัวที่ 15% เพิ่มจากที่เคยคาดไว้ก่อนหน้าที่ 13.5% จากการนำเข้าที่ขยายตัวสูงเกินคาดในช่วงที่ผ่านมา และแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2561 จากการบริโภค และการลงทุนภายในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี รวมถึงราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงกว่าที่คาด ซึ่งสนับสนุนให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงมีแนวโน้มสูงขึ้น
ทั้งนี้ การนำเข้าที่ขยายตัวสูงและมากกว่าการขยายตัวของการส่งออก ทำให้ไทยขาดดุลการค้าในเดือนสิงหาคมที่ 588 ล้านดอลลาร์สหรัฐๆ แต่ดุลการค้า 8 เดือนแรกยังเกินดุลอยู่ในระดับสูงที่ 2,351 ล้านดอลลาร์สหรัฐๆ สะท้อนถึงเสถียรภาพระหว่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี