นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร ในคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน กล่าวถึงการจัดโครงการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่อง ข้อเสนอปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ สภาอุตสาหกรรม หอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย นักวิชาการ และประชาชน เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งความคิดเห็นที่ได้จากการสัมมนาจะนำรวบรวมและประกอบการพิจารณาในการตรากฎหมาย เพื่อให้การจัดทำร่างประมวลรัษฎากรมีความทันสมัย เป็นธรรม และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้เป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้านที่มีแผนการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากรที่สำคัญปรากฏอยู่ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม โดยจะเร่งรัดและผลักดันร่างประมวลรัษฎากรให้แล้วเสร็จในปี 2562 ตามแผนปฏิรูปประเทศ
คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร ได้ศึกษาปัญหาในระบบภาษีอากรของประเทศไทย และนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาโดยการปรับปรุงโครงสร้างและบทบัญญัติของประมวลรัษฎากร ตลอดจนวิเคราะห์ผลกระทบจากการปรับปรุงโครงสร้างและบทบัญญัติของประมวลรัษฎากรตามข้อเสนอแนะดังกล่าว ซึ่งปัญหาเรื่องภาษีอากรที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาในเรื่องการบังคับใช้และความไม่เป็นธรรม
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ จึงได้จัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขประมวลรัษฎากรในประเด็นที่สำคัญ 6 ประเด็น ได้แก่ 1.ข้อเสนอเกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิผู้เสียภาษีอากรและธรรมาภิบาลทางภาษีอากร
1.1 ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษานโยบายภาษีอากรแห่งชาติที่เป็นอิสระจากหน่วยงานจัดเก็บภาษีอากร เพื่อให้ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและกลั่นกรอง กำหนดนโยบายและแก้ไขกฎหมายภาษีอากรของประเทศ โดยคำนึงถึงโครงสร้างภาษีทั้งระบบและทุกประเภท
1.2 ให้ยกเลิกการกำหนดเป้าการจัดเก็บภาษีเป็นจำนวนเงิน เพื่อสร้างความเป็นอิสระในการจัดเก็บและลดแรงกดดันในการจัดเก็บของเจ้าหน้าที่ ให้มีกำหนดหน้าที่และกระบวนการที่เจ้าพนักงานต้องปฏิบัติก่อนการออกหมายเรียก กำหนดระยะเวลาการตรวจสอบภาษีของเจ้าพนักงานประเมินภายหลังจากออกหมายเรียก และกำหนดหลักเกณฑ์ในการมีคำสั่งประเมินภาษีอากรอย่างชัดเจน และจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กลางซึ่งมีอำนาจอิสระแยกต่างหากจากหน่วยงานที่เก็บภาษีและไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณาอุทธรณ์
1.3 ให้มีช่องทางหารือข้อกฎหมายภาษีอากรล่วงหน้า และให้ผู้หารือได้รับความคุ้มครองจากการปฏิบัติตามแนววินิจฉัยตามข้อหารือดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบประเมินภาษี โดยให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งข้อเท็จจริง เอกสารที่ใช้ในการตรวจสอบและลำดับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบทสรุปความเห็นเพื่อให้ผู้เสียภาษีทราบในประเด็นความผิด ลดขั้นตอนในการขอคืนภาษีและให้มีกำหนดระยะเวลาส หรับการตรวจคืนภาษี
1.4 สร้างค่านิยมในการเสียภาษีโดยกำหนดนโยบายเพื่อจูงใจให้ผู้มีเงินได้เข้าสู่ระบบภาษี อาทิ การช่วยเหลือผู้มีเงินได้น้อย และการให้สิทธิประโยชน์เชิงสวัสดิการที่มิใช่เป็นตัวเงินแก่ผู้เสียภาษีมาก เป็นต้น และกำหนดนโยบายเชิงรุกเพื่อขยายฐานการจัดเก็บภาษี โดยให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะมีเงินได้หรือไม่ หรือมีเงินได้ถึงเกณฑ์มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และให้ประชาชนเปิดเผยจำนวนเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีในแบบแสดงรายการ แม้ในปีภาษีดังกล่าวจะไม่มีภาษีที่ต้องชำระก็ตาม
2.ข้อเสนอเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2.1 เสนอแนวทางโดยให้มีการเรียบเรียงบทบัญญัติในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจของบุคคลทั่วไป และเสนอให้มีการจัดแบ่งประเภทเงินได้ใหม่เหลือเพียง 3 ประเภท โดยแยกตามวิธีการคำนวณภาษี เป็นดังนี้ เงินได้จากน้ำพักน้ำแรง (Earned Income) ได้แก่ เงินได้พึงประเมิน มาตรา 40 (1) (2) (6) เดิม เงินได้จากทรัพย์สินและการลงทุน (Investment Income) ได้แก่ เงินได้ประเภทเงินปันผลและดอกเบี้ย และเงินได้จากธุรกิจและอื่น ๆ (Business Income) และเสนอให้มีการกำหนดวิธีการหักค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมกับวิธีการได้มาซึ่งเงินได้แต่ละประเภท และการให้หักค่าลดหย่อนโดยให้มีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับความ จำเป็นของผู้มีเงินได้แต่ละราย
2.2 ให้ปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ใกล้เคียงกับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลและขยายช่วงเงินได้สำหรับแต่ละอัตรา เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายย่อยที่ยังไม่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล
2.3 ให้มีการพิจารณาทบทวนยกเลิกประเภทเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม และให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์แน่นอนเกี่ยวกับเงินได้ที่อาจได้รับยกเว้น
3.ข้อเสนอเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล
3.1 เสนอให้มีการเรียบเรียงบทบัญญัติในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ
3.2 กำหนดให้ใช้ "มาตรฐานการบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีหรือหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป" เป็นหลักการพื้นฐานในการคำนวณกำไรสุทธิ เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในประมวลรัษฎากรนั้นเองหรือโดยคำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากร เพื่อให้เป็นหลักเกณฑ์การคำนวณกำไรสุทธิมีความยืดหยุ่นและปรับปรุงได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการบัญชีและควรมีการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การรับรู้รายได้และค่าใช้จ่ายเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะการประกอบธุรกิจ
3.3 กำหนดให้บริษัทในกลุ่มเดียวกัน มีสิทธิเลือกคำนวณกำไรเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิรวม (Consolidated Income) โดยกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ เพื่อลดปัญหาการตั้งราคาโอนระหว่างกิจการในกลุ่ม และการกำหนดรายได้เสมือนว่าได้รับ (Deemed Income) ต้องมีกฎหมายกำหนดโดยเฉพาะ และควรจะต้องมีหลักเกณฑ์การพิจารณาที่ชัดเจนและเป็นธรรม โดยคำนึงถึงเหตุผลและความจำเป็นทางธุรกิจ
3.4 ให้แยกบทบัญญัติเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลออกมาโดยเฉพาะ โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวง และให้พิจารณายกเว้นภาษีเงินได้จากการลงทุนในต่างประเทศ ให้รวมถึงเงินได้ประเภทอื่น นอกเหนือจากเงินได้จากเงินปันผลด้วย ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของนักลงทุนไทยในต่างประเทศ และควรพิจารณาทบทวนการให้สิทธิประโยชน์แก่ประเภทกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้เหลือเท่าที่จำเป็นและเหมาะสม นอกจากนี้เสนอให้เพิ่มบทบัญญัติเพื่อห้ามนำรายจ่ายเกี่ยวกับกิจการยกเว้นภาษีมารวมในการคำนวณกำไรสุทธิของกิจการที่เสียภาษี และควรกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีความชัดเจนแน่นอนสำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้แบบมีเงื่อนไข เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้จากการควบรวมกิจการ การยกเว้นภาษีเงินได้เนื่องจากได้รับสิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น
3.5 การจัดเก็บภาษีจากการลงทุนในต่างประเทศเสนอให้ใช้หลัก Worldwide Income เก็บภาษีจากแหล่งเงินได้ในประเทศและนอกประเทศ โดยในกรณีที่มีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศอาจให้เสียภาษีบนเงินได้นั้น โดยใช้อัตราพิเศษหากนำเงินได้กลับเข้ามาในประเทศไทย เพื่อจูงใจให้ผู้ลงทุนนำเงินกลับเข้ามาในประเทศ ทั้งนี้ อาจให้มีกฎหมายยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นนอกประเทศและเสียภาษีในต่างประเทศแล้ว โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อเป็นการบรรเทาการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน และให้มีมาตรการ tax credit แบบ underlying tax credit
3.6 การจัดเก็บภาษีเงินได้จากการประกอบธุรกิจของบริษัทต่างประเทศในประเทศไทยควรกำหนดวิธีการเสียภาษีเงินได้ของสาขา สำนักงานผู้แทน โดยให้นำหลักเกณฑ์ตามอนุสัญญาภาษีซ้อนมาใช้โดยถือว่าสาขาเป็นอิสระจากสำนักงานใหญ่ และกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณรายได้ รายจ่าย เช่น รายได้รายจ่ายระหว่างสาขากับสำนักงานใหญ่
3.7 เสนอให้กำหนดอัตราภาษี ณ ที่จ่ายเพียงอัตราเดียวสำหรับเงินได้ทุกประเภท และปรับวงเงินขั้นต่ำที่จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระของผู้จ่ายเงินได้ในการตีความ ทั้งนี้ เว้นแต่ภาษีหัก ณ ที่จ่าย กรณีจ่ายเงินไปต่างประเทศ อาจกำหนดให้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เฉพาะ ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าสิทธิ กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับ Royalty และอาจยกเลิกภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้บางประเภท เช่น เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน กำไรจากการขายหุ้น นอกจากนั้น ในกรณีที่มีภาษีที่หักไว้เกิน ควรอนุญาตให้ยกไปเป็นเครดิตภาษีปีต่อไปได้ โดยไม่ต้องขอคืนภาษี
4.ข้อเสนอเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
4.1 ให้ปรับปรุงแก้ไขเงื่อนไขการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มแบบปกติ (ภาษีขายหักภาษีซื้อ) จากรายได้ 1.8 ล้านบาทต่อปีให้สูงขึ้น เช่น 10 ล้านบาทต่อปี โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกขอจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบภาษีมูลค่าเพิ่มได้แม้รายได้ต่อปีไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีรายได้น้อยกว่าขั้นต่ำที่กำหนดให้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีการขายจากรายรับ (gross income) ในอัตราต่ำ เช่น ร้อยละ 2
4.2 เสนอให้พิจารณาทบทวนยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้กิจการบางประเภท เช่น บริการสอบบัญชี การว่าความ โรงเรียนกวดวิชา การให้บริการนักแสดง เป็นต้น และคงเหลือยกเว้นเฉพาะประเภทที่มีเหตุจำเป็นสมควร
4.3 ให้แก้ไขหลักเกณฑ์ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการออกใบแจ้งหนี้เชิงพาณิชย์ (commercial invoice) และสนับสนุนนโยบาย E-tax Invoice โดยให้ผู้ประกอบการจัดทำใบกำกับภาษีในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น
4.4 ให้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการส่งออกบริการ/สินค้าไม่มีรูปร่างให้ชัดเจน และกำหนดความรับผิดในการส่งออกสินค้าไม่มีรูปร่างในลักษณะเดียวกับการส่งออกบริการเนื่องจากไม่มีการทำพิธีการศุลกากร
4.5 เสนอพิจารณาการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยนำหลักตามร่างกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ประกอบการ ecommerce มาใช้
5.ข้อเสนอเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ เสนอให้ยกเลิกการยกเว้นการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะอัตราร้อยละ 0.1 จากรายรับจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
6. ข้อเสนอเกี่ยวกับภาษีอากรแสตมป์ ให้ยกเลิกการจัดเก็บอากรแสตมป์ทั้งหมด เนื่องจากการจัดอากรแสตมป์มีความซ้ำซ้อนกับภาษีประเภทอื่น และบางกรณีอากรมีจำนวนเล็กน้อย และมีค่าใช้จ่ายในการติดตามตรวจสอบสูงกว่าภาษีที่จัดเก็บ