นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดงานสัมมนาวิชาการ BOT Symposium 2018 "สู่ยุคใหม่ของระบบการเงินและธนาคารกลาง" ว่า กรอบการดำเนินงานของธนาคารกลาง แต่เดิมได้ถูกออกแบบมาสำหรับโลกที่มีขอบเขตและเส้นแบ่งที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพรมแดนระหว่างประเทศ เส้นแบ่งระหว่างสถาบันการเงินแต่ละประเภท หรือเส้นแบ่งระหว่างผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ แต่โลกในปัจจุบัน เส้นแบ่งเหล่านี้ได้เลือนหายลงไปเรื่อย ๆ เหตุการณ์ที่เกิดในอีกซีกโลกหนึ่ง สามารถส่งผลกระทบมาสู่ตลาดเงินตลาดทุนในบ้านเราได้ทันที สำหรับเส้นแบ่งพรมแดนที่เคยมีอยู่ลดความสำคัญลงใน 3 มิติหลักคือ 1.เส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศด้านการค้าขายสินค้าและบริการ และด้านตลาดเงินตลาดทุน 2.เส้นแบ่งพรมแดนระหว่างบริษัทในกระบวนการผลิต และ 3.เส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเภทธุรกิจ
รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปและพรมแดนที่เลือนลางนี้กำลังเกิดขึ้นในภาคการเงินเช่นกัน ทุกวันนี้เริ่มเห็นการแบ่งแยกของธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นหลายธุรกิจย่อย เช่น การออมเงิน โอนเงิน กู้ยืมเงิน โดยไม่จำเป็นต้องทำธุรกรรมผ่านธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการทางการเงินในปัจจุบันมีทั้งบริษัทโทรคมนาคมที่เชื่อมโยงบริการที่หลากหลายเข้าด้วยกัน บนพื้นฐานเครือข่ายโทรคมนาคมที่กว้างขวาง บริษัทอีคอมเมิร์ซที่อาศัยฐานลูกค้าขนาดใหญ่เพื่อเสริมบริการทางการเงินต่อยอดธุรกิจเดิม และฟินเทคที่สร้างนวัตกรรมทางการเงินเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ทั้งหมดนี้จะทำให้บทบาทและความสำคัญของตัวกลางทางการเงินเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก
ในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและยากที่จะคาดเดา ธนาคารกลางจะยิ่งมีความสำคัญในฐานะองค์กรหลักของประเทศที่มีเป้าหมายหลักในการรักษาเสถียรภาพ สร้างภูมิคุ้มกัน และส่งเสริมความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม
"วันนี้เราก็กำลังอยู่ในอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญในโลกการเงิน ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ กำลังพลิกโฉมเรื่องของเงินและระบบการเงินอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะโดยแก่นแท้แล้ว การเงินคือธุรกิจแห่งความไว้วางใจ (trust) ซึ่งความไว้วางใจเกิดจากการประมวลข้อมูลต่าง ๆ จำนวนมาก ทั้งข้อมูลในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ระบบการเงินจึงเปรียบเสมือนเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่รวบรวมและกลั่นกรองข้อมูลจำนวนมากมายเพื่อใช้ประเมินความน่าเชื่อถือ ความเสี่ยง และผลตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อ จัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพทั้งระหว่างบุคคล ข้ามช่วงเวลา หรือตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ ดังนั้น การปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ (information technology revolution) ที่ทำให้คนสามารถบริหารจัดการ เข้าถึง และใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้มากขึ้น รวดเร็วขึ้น ในต้นทุนที่ต่ำลง ย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสร้างความไว้วางใจและโลกการเงินอย่างกว้างขวาง"
ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่กำลังพลิกโฉมภาคการเงินในขณะนี้ เชื่อว่าคงมีคนตั้งคำถามว่าธนาคารพาณิชย์ และธนาคารกลางจะยังคงอยู่และมีความจำเป็นอีกต่อไปหรือไม่ ซึ่งตนเองเห็นว่าในโลกที่เศรษฐกิจและการเงินมีความเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น และซับซ้อนมากขึ้น บทบาทของผู้ดูแลเสถียรภาพการเงินของประเทศจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น ระบบการเงินของเราตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจ และความเชื่อมั่นว่าเงินที่ถืออยู่จะมีค่าและปลอดภัย ความไว้วางใจนี้เป็นผลของกฎกติกาที่รอบคอบ รัดกุม และการดำเนินนโยบายการเงินที่ยึดมั่นผลประโยชน์ในระยะยาวเป็นที่ตั้ง หรือกล่าวได้ว่าธนาคารกลางเป็นนวัตกรรมเชิงสถาบันที่พัฒนาขึ้นมา เพื่อรักษาความไว้วางใจให้ระบบเศรษฐกิจ
"ในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและยากที่จะคาดเดา ธนาคารกลางจะยิ่งมีความสำคัญในฐานะองค์กรหลักของประเทศที่มีเป้าหมายหลักในการรักษาเสถียรภาพ สร้างภูมิคุ้มกัน และส่งเสริมความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม" นายวิรไท กล่าว
ส่วนวิธีการดำเนินงานนั้นจำเป็นต้องพัฒนาตามยุคสมัยและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป หลักการสำคัญ คือ ต้องมีกรอบการดำเนินงานที่ยืดหยุ่น สามารถปรับให้สอดคล้องและเหมาะสมตามสถานการณ์ได้อย่างคล่องตัว ต้องรู้ลึก มองไกล เข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และพัฒนากรอบความคิดและเครื่องมือทำนโยบายการเงินอยู่เสมอให้สามารถรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ได้อย่างเท่าทัน
ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า ในด้านการดำเนินนโยบายการเงินนั้น อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงที่ผ่านมาเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกระแสโลกาภิวัฒน์ รวมทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่กดดันต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับต่ำและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ในสภาวะที่พลวัตเงินเฟ้อกำลังปรับเปลี่ยนและขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกประเทศมากขึ้น การมุ่งบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อต้องตระหนักถึงขีดจำกัดของเครื่องมือในการส่งผ่านนโยบาย และผลกระทบข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นโดยเฉพาะในด้านเสถียรภาพการเงิน นโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น หรือ flexible inflation targeting ต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะทาให้เราสามารถดำเนินนโยบายโดยคำนึงถึงสมดุลของเศรษฐกิจในหลาย ๆ ด้าน
"เราต้องตระหนักว่าการดูแลเงินเฟ้อเป็นเพียงทางผ่านที่จะนำไปสู่เป้าหมายหลักที่สำคัญกว่า นั่นคือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของคนไทย ดังนั้นการรักษาเสถียรภาพด้านราคาอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องดูแลควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจสามารรถขยายตัวได้เต็มศักยภาพอย่างยั่งยืน" นายวิรไท กล่าว
ในยุคปัจจุบันที่ความสนใจของผู้คนสั้นลง ความสามารถในการอดทนรอคอยผลในระยะยาวลดลงไปเรื่อย ๆ และมักให้ความสำคัญกับประโยชน์เฉพาะหน้ามากว่าผลข้างเคียง และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต บทบาทหน้าที่ของธนาคารกลางในการเป็นผู้ดูแลรักษาเสถียรภาพในระยะยาวยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น และในขณะเดียวก็มีความท้าทายมากขึ้นท่ามกลางแรงกดดันและความต้องการในช่วงเวลาสั้นๆ ความเป็นอิสระในการดำเนินงานเป็นสิ่งที่ทำให้ธนาคารกลางสามารถดูแลรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจระยะยาวได้อย่างมั่นคง
"ความเป็นอิสระของธนาคารกลางนี้ อยู่ได้ด้วยการที่ธนาคารกลางมีความรับผิดชอบ โปร่งใส และได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ซึ่งในท้ายสุดความชอบธรรมของการได้รับความเป็นอิสระในการดำเนินงานนี้ ก็จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการบรรลุเป้าหมายตามพันธกิจของธนาคารในการดูแลรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ และระบบการเงินในระยะยาวนั่นเอง" นายวิรไท กล่าว