กลุ่มหนุน-ค้านประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณเดินสายนำเสนอข้อมูลก่อนรัฐบาลเปิดประมูลพรุ่งนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 24, 2018 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพลังงาน เตรียมตัวพร้อมเปิดรับให้ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเข้ายื่นประมูลเพื่อเป็นผู้พัฒนาและผลิตปิโตรเลียมแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณในวันพรุ่งนี้ ขณะที่ในวันนี้ (24 ก.ย.) ทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มที่คัดค้านต่างเดินสายยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแสดงออกความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างคึกคักในช่วงก่อนการเปิดให้ยื่นประมูล

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ยืนยันการเปิดประมูลปิโตรเลียมแหล่งบงกชและเอราวัณที่จะหมดอายุในปี 65-66 นั้น จะไม่จำกัดสิทธิแก่รายใด แม้จะมีกระแสข่าวเกี่ยวกับข้อกล่าวหาต่าง ๆ ที่ยังไม่มีการพิสูจน์ ทั้งในกรณีการเลี่ยงภาษีของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และกรณีสินบนโรลส์-รอยซ์ของกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) ขณะที่ปัจจุบันกระทรวงพลังงาน ยังไม่ได้รับการติดต่อจากกลุ่มผู้คัดค้านการประมูลแหล่งปิโตรเลียมว่าจะเข้ามารับฟังคำชี้แจงจากกระทรวงพลังงานหรือไม่ แต่กระทรวงฯ ก็พร้อมที่จะชี้แจงและทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายต่อไป

"เราต้องเดินหน้าต่อ เชฟรอนเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณเป็นหนึ่งในผู้สร้างความเจริญให้กับไทยมาตลอด 35 ปี ส่วนที่จะไปกล่าวหาว่าเขามีความผิดต้องระมัดระวัง เราไม่ได้มาปกป้องบริษัทเอกชน แต่เป็นหน้าที่ของบริษัทที่ต้องไปพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเขา ส่วนเรื่องโรลส์-รอยซ์ที่เกี่ยวข้องกับบางหน่วยงานของ ปตท.เป็นเรื่องที่ต้องทำความชัดเจนอีกครั้ง ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการประมูล จนกว่าจะมีความชัดเจนหรือมีข้อพิสูจน์ทราบ เราก็ไม่ควรจำกัดโอกาสของประเทศชาติที่จะได้ผู้ประกอบการที่มีความมั่นคง มีความสามารถสูงที่จะร่วมสร้างความเจริญให้กับประเทศชาติได้ ส่วนข้อกล่าวหาหรือข้อสงสัยอยู่ในกระบวนการที่พิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงอยู่แล้ว"นายศิริ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าว ภายหลังจากที่กลุ่มสภาพลังงานเพื่อประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการเปิดประมูล เนื่องจากเห็นว่าผู้ที่จะยื่นประมูลบางรายอาจมีการกระทำผิดกฎหมาย

ด้านบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ออกเอกสารยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวกับการจ่ายภาษีอากร ของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในเรือขนส่งวัสดุและอุปกรณ์ในอ่าวไทย ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยได้ให้ความร่วมมือในประเด็นเกี่ยวกับการตีความที่แตกต่างกันของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ขณะที่ในวันนี้กลุ่มสภาพลังงานฯ พร้อมด้วยสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย (สรส.) ได้เดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อคัดค้านการเปิดประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าสัญญาการเปิดประมูลดังกล่าวไม่ได้เป็นผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ โดยมีตัวแทนจากสำนักรับเรื่องราวร้องทุกข์ของทำเนียบรัฐบาลออกมารับหนังสือ และกลุ่มสภาพลังงานฯจะปักหลักค้างคืนที่บริเวณทำเนียบรัฐบาลในคืนนี้ด้วย และอาจจะเดินทางมายังกระทรวงพลังงานในวันพรุ่งนี้ (25 ก.ย.)

ขณะเดียวกันในวันนี้กลุ่มผู้สนับสนุนการเปิดประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณ ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อรมว.พลังงาน ที่กระทรวงพลังงาน เช่นกัน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เนื่องจากเห็นว่าการเปิดประมูลจะเป็นการสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงทางด้านพลังงานให้ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม , สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปตท.ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งตัดสินใจเพื่อไม่ให้ประเทศเสี่ยงกับการขาดแคลนพลังงาน และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) เป็นต้น

นายพนมทวน ทองน้อย ประธาน สร.กฟผ. กล่าวว่า แม้ กฟผ.จะเป็นสมาชิกของ สรส. และรับทราบถึงการคัดค้านของ สรส.ต่อกรณีการเปิดประมูลแหล่งบงกช และเอราวัณในครั้งนี้ แต่ในส่วนของ กฟผ.ก็ไม่ได้คัดค้านเรื่องดังกล่าว เพราะเห็นว่าก๊าซธรรมชาตินับเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้า โดยปัจจุบันไทยมีการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติมากถึง 70% ของเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งหากไทยไม่มีปริมาณก๊าซฯเพียงพอและต่อเนื่องก็อาจจะกระทบต่อความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ก็ขอให้การเปิดประมูลครั้งนี้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม

ด้านนายพัฒา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการนโยบายและแผนพลังงาน กฟผ. กล่าวว่า ปัจจุบัน กฟผ.ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งก๊าซฯจะมาจากอ่าวไทยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องให้มีปริมาณก๊าซฯเข้ามาอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้มีปัญหาต่อระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศ

นายวุฒิกร สติฐิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่จัดหาและตลาดก๊าซธรรมชาติ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. กล่าวว่า ปริมาณก๊าซฯในแหล่งบงกชและเอราวัณ คิดเป็นประมาณ 60-70% ของปริมาณก๊าซฯของประเทศ ซึ่งจำเป็นที่การผลิตก๊าซฯจากทั้ง 2 แหล่งจะต้องมีความต่อเนื่องเพื่อให้การผลิตไฟฟ้าและการดำเนินการของภาคอุตสาหกรรมไม่มีปัญหา และมีต้นทุนพลังงานของประเทศอยู่ในวิสัยที่แข่งขันได้ในราคาที่ไม่สูงเกินไป

อนึ่ง การผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งเอราวัณและบงกช เป็นแหล่งก๊าซฯหลักของประเทศ โดยปัจจุบันมีการผลิตก๊าซฯจากทั้ง 2 แหล่งรวมประมาณ 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟ.)/วัน โดยแหล่งเอราวัณอยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ตามสัญญาสัมปทาน เลขที่ 1/2515/5 และเลขที่ 2/2515/6 ซึ่งจะสิ้นสุดอายุสัมปทานวันที่ 23 เม.ย.65

ส่วนแหล่งบงกช อยู่ภายใต้การดำเนินงานของบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ตามสัญญาสัมปทาน เลขที่ 5/2515/9 โดยจะสิ้นอายุสัมปทานวันที่ 23 เม.ย.65 และสัญญาสัมปทาน เลขที่ 3/2515/7 จะสิ้นอายุสัมปทานวันที่ 7 มี.ค.66

สำหรับการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมครั้งนี้ มีเงื่อนไขสำคัญที่ผู้ได้รับสัญญาสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จะต้องดำเนินการผลิตปิโตรเลียมได้ต่อเนื่องทันทีในวันที่หมดอายุสัมปทาน โดยมีปริมาณการผลิตรวมกันทั้ง 2 แหล่งไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านลบ.ฟ./วัน ต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี โดยเป็นการผลิตจากแหล่งบงกช ในปริมาณไม่ต่ำกว่า 700 ล้านลบ.ฟ./วัน และแหล่งเอราวัณ ไม่ต่ำกว่า 800 ล้านลบ.ฟ./วัน เพื่อที่จะเป็นหลักประกันว่าจะมีปริมาณก๊าซฯเพียงพอสำหรับการผลิตไฟฟ้า และป้อนโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้มีก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพียงพอกับการใช้ของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ