พาณิชย์ เผย 7 เดือนแรกปี 61 ยอดใช้สิทธิ FTA/GSP โต 19% ลุ้นทั้งปีโตกว่าเป้าหมาย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 25, 2018 12:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงยอดการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 61 (ม.ค.-ก.ค.) ว่า มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ รวมอยู่ที่ 42,704.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อยู่ที่ 84.07% ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.95% โดยแบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 39,972.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 2,732.18 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้จัดทำความตกลง FTA ทั้งสิ้น 12 ฉบับ และมีการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA เป็นมูลค่า 39,972.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 75.36% ของมูลค่าการส่งออกรวมภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไปยังประเทศคู่ภาคีความตกลง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.54% โดยตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. อาเซียน (มูลค่า 15,109.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 2. จีน (มูลค่า 10,148.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 3. ออสเตรเลีย (มูลค่า 5,429.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 4. ญี่ปุ่น (มูลค่า 4,318.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ 5. อินเดีย (มูลค่า 2,563.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

โดยเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ พบว่าในทุกตลาดมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ เพิ่มขึ้น ยกเว้นตลาดนิวซีแลนด์ที่มีอัตราการขยายตัวเป็นลบ โดยตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด คือ เปรู ซึ่งมีอัตราการขยายตัว 53.05% รองลงมาคือ จีน และอินเดีย ซึ่งมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 31.24% และ 24.84% ตามลำดับ

สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ไทย-ชิลี 102.30% 2. ไทย-ออสเตรเลีย 94.10% 3. อาเซียน-จีน 90.54% 4. ไทย-ญี่ปุ่น 88.66% และ 5. อาเซียน-เกาหลี 88.55% และรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียน น้ำตาลจากอ้อย และมันสำปะหลัง

สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ในช่วง 7 เดือนแรกของปี พบว่าประเทศที่ไทยใช้สิทธิส่งออกในแง่ของมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. เวียดนาม (4,250.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 2. อินโดนีเซีย (3,927.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ 3. ฟิลิปปินส์ (3,175.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ทั้งนี้ ยังคงต้องจับตามองตลาดเวียดนามซึ่งเป็นตลาดที่มีการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงในอัตรา 85.68% และเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในแง่การส่งออกและการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินค้าผลไม้/อาหารแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า

นายอดุลย์ ยังกล่าวถึงการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ว่า ปัจจุบันไทยยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP 5 ระบบ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา, สวิตเซอร์แลนด์, รัสเซียและเครือรัฐเอกราช, นอร์เวย์ และญี่ปุ่น โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค.-ก.ค.) มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP เท่ากับ 2,732.18 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการใช้สิทธิ 59.22% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ขยายตัว 2.80%

โดยการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐอเมริกายังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากสุดที่ 96% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด ซึ่งในช่วง 7 เดือนแรกของปี มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 2,478.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอัตราการใช้สิทธิ 68.32% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 3,627.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.53% สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มอื่นๆ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง และรถจักรยานยนต์

ส่วนการใช้สิทธิ GSP ไปยังสวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์นับตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป กรมฯ ได้เปลี่ยนมาใช้ระบบการรับรองตนเองของผู้ส่งออก (Registered Exporter: REX system) เต็มรูปแบบแทนการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form A) ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบการสามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ที่กรมฯ และจะได้รับหมายเลขประจำตัว (Registered exporter number) ที่จะต้องใช้ระบุในคำรับรองถิ่นกำเนิดฯ ทุกครั้ง โดยในช่วง 7 เดือนของปี 2561 การใช้สิทธิฯ GSP ภายใต้ระบบ REX สวิตเซอร์แลนด์มีมูลค่ารวม 147.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นอัตราการใช้สิทธิฯ 29.1% เมื่อเทียบกับการส่งออกรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ และสำหรับการใช้สิทธิฯ GSP ภายใต้ระบบ REX นอร์เวย์ มีมูลค่ารวม 11.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นอัตราการใช้สิทธิฯ 65.28% เมื่อเทียบกับการส่งออกรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ

ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศได้ตั้งเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ตลอดปี 2561 ไว้ที่ 9% (คิดเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ประมาณ 70,794 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็น 60.3% ของเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ

นายอดุลย์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาถึงมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความชัดเจนมากขึ้น และผลจากการปรับปรุงระบบการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าที่สะดวกรวดเร็ว ลดขั้นตอนและค่าใช้จ่าย รวมถึงการจัดกิจกรรมสัมมนาเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงสิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีต่างๆ กรมฯ จึงมั่นใจว่ามูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และมีความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวมากกว่า 10% ตลอดทั้งปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ