นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือน ส.ค.61 อยู่ที่ 113.04 ขยายตัว 0.7% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 61 (ม.ค.-ส.ค.) MPI ขยายตัว 3.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (8 เดือนปี 60 ขยายตัว 1.50%)
ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญในเดือนก.ย.นี้ มี 3 เรื่อง คือ 1.ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ซึ่ง สศอ.คาดว่าน่าจะลากยาวข้ามปี และผลกระทบจะเปลี่ยนจาก Short Term เป็น Long Term
"ถ้าลากยาวลบทั้งโลก แต่ตอนนี้ผลกระทบยังไม่ชัดเจน ยังต้องดูระลอกถัดมาว่าสหรัฐจะมีมาตรการถัดไปออกมาอีกหรือไม่"
แต่ผลที่ตามมาคือ 2.เนื่องจากสถานการณ์ไม่นิ่งทำให้เงินไหลออกไปยังที่ๆ ค่อนข้างปลอดภัย ส่วนหนึ่งคือสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยขณะที่ไหลออกจากสกุลเงินที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ทั้งจากปัจจัยภายในประเทศและผลกระทบจากสงครามการค้า คือ ตลาดเกิดใหม่มากสุดตอนนี้ คืออาร์เจนติน่า ตุรกี บราซิล รัสเซีย อินโดนิเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ที่มีการลดค่าเงินพอสมควร
"เรื่องค่าเงินอยู่ที่ความเชื่อมั่น เพราะหากคนกลัวมากๆ เรื่องความไม่นิ่งในโลก ก็อาจจะมีค่าเงินสกุลอื่นที่จะได้รับผลกระทบอีก สำหรับประเทศไทยมองว่าเงินบาทยังมีเสถียรภาพ"
ทั้งนี้ สิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องหันมาให้ความสำคัญอย่างมากคือ "Siam Model" เพราะสินค้าหลายตัวของไทยไม่ Up to date มากนัก เป็นจังหวะที่ต้องเร่งทั้งเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ EV ที่ต้องรีบฉวยโอกาสในการพัฒนา
"ในทุกวิกฤติมันมีโอกาส ถ้าจังหวะนี้เรามีความชัดเจนว่าเราจะเดินทางไหนใน S-Curve ต่างๆ เพื่อจะให้ผู้ลงทุนเห็นว่ามันมีเส้นทางเดินชัดเจน เงินต่างๆ ที่หาที่ลง ก็จะมาลงที่เรามากขึ้น" ผู้อำนวยการ สศอ.ระบุ
เรื่องที่ 3.ความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้ง ส่งผลที่ดีต่อภาคลงทุน
ส่วนกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนนั้น มองว่ามีทั้งผลบวกและลบ ผู้ประกอบการต้องดูธุรกิจตัวเองว่าส่งสินค้าไปจีนเพื่อผลิตไปสหรัฐฯ หรือไม่ หรือมีสินค้าที่มีแนวโน้มว่าจีนจะเปลี่ยนเส้นทางจากการส่งไปสหรัฐฯ มาที่ตนเองหรือไม่ หรือมีสินค้าหรือวัตถุดิบที่ทำส่งไปจีนสามารถทดแทนของที่มาจากสหรัฐฯได้หรือไม่
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนสิงหาคม ได้แก่
- น้ำตาลทราย ขยายตัว 91.12% จากผลผลิตอ้อยในปีนี้มีมาก ทำให้มีการแปรสภาพน้ำตาลทรายดิบเป็นน้ำตาลทรายขาวและขาวบริสุทธิ์มีมากกว่าปีก่อน
- ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัว 12.39% ตามความต้องการของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โลก ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่มสินค้าโดยเฉพาะจากกลุ่มสินค้าหลัก ได้แก่ PCBA และ otherintegrated circuits (Ic)
- เครื่องปรับอากาศ ขยายตัว 32.33% จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีสูงเพื่อขยายฐานลูกค้าในประเทศและการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำไปติดตั้งตามอาคารต่างๆ ในการรองรับกีฬาโอลิมปิกรวมถึงการขยายตลาดใหม่ที่อินเดีย
- น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัว 7.43% ตามทิศทางเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการขนส่งเดินทางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสินค้าน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 น้ำมันดีเซล รวมถึงการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นจากน้ำมันเครื่องบิน
- เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ทางยา ขยายตัว 24.04% เนื่องจากมีการเพิ่มกำลังการผลิตตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา เพื่อรองรับการขยายตลาดในประเทศและตลาดส่งออก
ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมสำคัญในไตรมาส 4 ปี 2561 เช่น อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าขยายตัว 7.4% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผลผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไทยอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และ CLMV รวมทั้งการขยายตลาดใหม่เพิ่มขึ้น อาทิ อาเซียน แอฟริกา และตะวันออกกลาง
อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง คาดว่าการผลิตยางรถยนต์ขยายตัว 1.15% สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ จะขยายตัว 3.80% ตามแนวโน้มความต้องการใช้ที่สูงขึ้น
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า คาดว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าจะขยายตัว 1.5% ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 และการบริโภคในประเทศมีปริมาณ 4.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 7.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่คาดการณ์ว่าจะผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของภาครัฐในช่วงปลายปี