ก.เกษตรฯ กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรปี 62 จำนวน 15 เรื่อง ตามข้อเสนอจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐและเอกชน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 25, 2018 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ว่า คณะกรรมการฯ เห็นชอบแผนการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร ปี 2562 โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้มีการสำรวจความต้องการมาตรฐานสินค้าเกษตร รวมถึงได้รับข้อเสนอให้จัดทำมาตรฐานจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีแผนกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร จำนวน 15 เรื่อง ได้แก่ 1) เผือก 2) พืชสมุนไพรประเภทผล 3) พืชสมุนไพรประเภทดอก 4) กระถินสำหรับอาหารสัตว์ 5) การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (ทบทวน) 6) การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือ 7) การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับยางพารา

8) การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเห็ดกระดุม 9) การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุพืชอาหารสัตว์ และแนวปฏิบัติ 10) การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค 11) การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มเพาะพันธุ์สุนัข 12) การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มเพาะพันธุ์แมว 13) สารพิษตกค้างสูง (ทบทวน) 14) อภิธานศัพท์ความปลอดภัยอาหาร และ 15) การชันสูตรโรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อ

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้เห็นชอบการยกร่าง/ปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานสินค้าเกษตร ได้แก่ 1) หลักการด้านสวัสดิภาพสัตว์ : ระบบการผลิตไก่เนื้อ 2) เกษตรอินทรีย์ เล่ม 2 : ปศุสัตว์อินทรีย์ 3) การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตยางเครป 4) มันฝรั่งสำหรับการแปรรูป 5) เมล็ดกาแฟอะราบิกา 6) การชันสูตรโรคบรูเซลลา และแนวปฏิบัติ 7) แนวปฏิบัติในการใช้มาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่

ปัจจุบันการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐาน และความปลอดภัยที่จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เสนอขอจัดทำมาตรฐานเพิ่มเติมระหว่างปี จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตร จำนวน 9 คณะ คือ คณะที่ 1 พืชสมุนไพรประเภทดอกและผล คณะที่ 2 กระถินสำหรับอาหารสัตว์ คณะที่ 3 การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง คณะที่ 4 การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค คณะที่ 5 การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มเพาะพันธุ์สุนัข และฟาร์มเพาะพันธุ์แมว (อาจมีการเปลี่ยนชื่อให้เหมาะสมในภายหลัง) คณะที่ 6 อภิธานศัพท์ความปลอดภัยอาหาร คณะที่ 7 เผือก คณะที่ 8 สารพิษตกค้าง และคณะที่ 9 การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร อีกทั้งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาการดำเนินงานด้านอาหารฮาลาลอาเซียนด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ