พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำคณะนักธุรกิจหอการค้าสหรัฐอเมริกา (U.S. Chamber of Commerce) เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า นายกรัฐมนตรียินดีที่ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ มีพลวัตอย่างต่อเนื่อง และขอบคุณที่ USCC ช่วยส่งเสริมและผลักดันให้นักธุรกิจสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในไทย ทำให้มูลค่าการค้าระหว่าง 2 ประเทศเพิ่มขึ้นโดยตลอด
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า รัฐบาลมุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 มุ่งเน้น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นสาขาที่สหรัฐฯ มีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะภาคการเกษตร, ยานยนต์และอากาศยาน, อุตสาหกรรมการแพทย์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมุ่งเสริมสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และการลงทุนที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ และการลงทุนของบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งให้ความสำคัญอย่างมากต่อวาระการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากเห็นว่าการยกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัลในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก และในปี 2562 ไทยจะรับตำแหน่งประธานอาเซียน มีนโยบายหลักที่มุ่งเสริมสร้างอาเซียนให้เข้มแข็ง
ทั้งนี้ อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย แสดงความขอบคุณที่นายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับแนวนโยบายเศรษฐกิจไทย และพร้อมให้การสนับสนุนการปฏิรูปของไทย โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งนักธุรกิจสหรัฐฯ เชื่อมั่นและจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
"ภาคเอกชนสหรัฐฯ พร้อมเป็นหุ้นส่วนในการผลักดันการดำเนินนโยบายประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิทัล และสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของไทย และพร้อมที่จะสนับสนุนไทยในฐานะประธานอาเซียน โดยเห็นว่าไทยมีบทบาทสำคัญต่ออาเซียนอย่างมาก" รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุ
ด้านนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เชิญภาคเอกชนสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในธุรกิจดิจิทัลจากต่างประเทศ อาทิ อีคอมเมิร์ซ ปัญญาประดิษฐ์ และธุรกิจ start-ups ด้านดิจิทัลในพื้นที่ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ ซึ่งเป็นโครงการหลักภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พร้อมยืนยันว่า ไทยมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับความร่วมมือเทคโนโลยีในประเด็นความมั่นคงไซเบอร์และการพัฒนาด้านดิจิทัล
สำหรับนักธุรกิจสหรัฐฯ ประกอบด้วย บริษัทชั้นนำด้านดิจิทัล อาทิ บริษัท FedEx Express, บริษัท Qualcomm Incorporated, บริษัท Cisco, บริษัท Fortinet, บริษัท Engine, บริษัท The Software Alliance, บริษัท Seagate, บริษัท Seagate Technology และบริษัท Airbnb เป็นต้น