กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ในวันนี้มีกลุ่มเอกชนได้เข้ายื่นข้อเสนอเพื่อเข้าร่วมประมูลแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยในฐานะผู้ดำเนินงาน
แปลง G1/61 หรือแหล่งเอราวัณ 2 ราย ได้แก่
1.บริษัท ปตท.สผ.เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ถือหุ้น 60% ร่วมกับ บริษัท เอ็มอี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด ในกลุ่มมูบาดาลา ถือหุ้น 40%
2บริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 74% ร่วมกับ บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด ถือหุ้น 26%
แปลง G2/61
1.บริษัท ปตท.สผ.เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด 100%
2.บริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 74% ร่วมกับ บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด ถือหุ้น 26%
ขณะที่กรมเขื้อเพลิงฯมองว่าการที่กลุ่มโททาลไม่เข้าร่วมประมูลครั้งนี้ เนื่องจากอาจมองศักยภาพปิโตรเลียมของไทยมีไม่มากนัก
อนึ่ง ในวันนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลที่ผ่านหลักเกณฑ์ตามขั้นตอนต่างๆ เข้ายื่นแผนการดำเนินงาน งบประมาณการลงทุน ข้อเสนอทางด้านเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐตามเงื่อนไขหลักสำคัญที่ระบุไว้ ในทีโออาร์ เพื่อชิงสิทธิเป็นผู้ดำเนินการสำรวจ พัฒนาและผลิตก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แปลง ร่วมกับภาครัฐให้เกิดความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
หลังจากนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ในการพิจารณาเปรียบเทียบข้อเสนอเพื่อเลือกผู้ชนะการประมูล โดยจะแล้วเสร็จประมาณเดือน ธ.ค.61 เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และใช้เวลาในการเจรจาสัญญาแบ่งปันผลผลิตในขั้นสุดท้ายกับผู้ที่ชนะการประมูล ซึ่งมีเป้าหมายจะลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลในระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับทั้ง 2 แปลง ในเดือน ก.พ.62
นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP เปิดเผยว่า บริษัทได้ยื่นประมูลแหล่งสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ ซึ่งในส่วนของแหล่งบงกชนั้น ปตท.สผ.จะยื่นประมูลเอง สำหรับแหล่งเอราวัณนั้น ปตท.สผ.เข้าร่วมประมูลกับบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากเป็นผู้ร่วมทุนที่มีศักยภาพ และมีการลงทุนในแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยอยู่แล้ว จึงมีความเข้าใจฟื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างดี
"เราเชื่อมั่นว่าองค์ความรู้ ประสบการณ์ และความชำนาญในการวสำรวจ พัฒนาและผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งบงกชตลอดระยะเวลา 25 ปีทำให้เรายื่นข้อเสนอในการประมูลที่สามารถสร้างความต่อเนื่องในการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ และสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศได้มากกว่า เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศในระยะยาว"นายสมพร กล่าว
ขณะที่นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า กลุ่มเชฟรอนได้ร่วมกับพันธมิตรเข้าประมูลทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ โดยเชื่อมั่นว่าความรู้ และความเข้าใจ รวมถึงประสบการณ์ทางธรณีวิทยาในอ่าวไทยจะเป็นจุดแข็งในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่งได้
"มั่นใจว่าข้อเสนอของเราน่าจะเป็นข้อเสนอที่ดีที่นำมาแสดงต่อภาครัฐ และมีความรู้ความเข้าใจทางธรณีวิทยา รวมถึงการมีเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้พัฒนาแหล่ง มั่นใจว่าทางภาครัฐจะพิจารณาอย่างดีด้วย"นายไพโรจน์ กล่าว