ครม.อนุมัติหลักการโครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ใน 33 จังหวัด หลังดีมานด์สูง แต่ซัพพลายน้อย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 25, 2018 18:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาเพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เพื่อให้ประชาชนหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ตลาดมีความต้องการและอยู่ในพื้นที่ที่สามารถบริหารจัดการน้ำได้ค่อนข้างดี ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีความต้องการใช้ในการทำอาหารสัตว์ปีละ 8 ล้านตัน แต่มีการเพาะปลูกได้เพียง 4 ล้านตัน

โครงการดังกล่าวมีเป้าหมาย 33 จังหวัด รวมพื้นที่ 2 ล้านไร่ ได้แก่ ภาคเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร แพร่ พิษณุโลก เชียงราย ตาก เพชรบูรณ์ ลำพูน นครสวรรค์ สุโขทัย ลำปาง พะเยา อุตรดิตถ์ น่าน พิจิตร อุทัยธานี, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ นครพนม บุรีรัมย์ หนองคาย สกลนคร ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุดรธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี, ภาคกลางที่ ชัยนาท สระบุรี ส่วนภาคตะวันออก ที่ปราจีนบุรี

สำหรับพื้นที่ 33 จังหวัดที่กล่าวมาจะอยู่ในเขตชลประทาน หรือหากอยู่นอกเขตชลประทานก็ต้องมีศักยภาพเรื่องการบริหารจัดการน้ำ

ด้านคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นเกษตรกรที่เป็นหัวหน้าครัวเรือนในทะเบียนเกษตรกรที่ขึ้นไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร และมีความประสงค์จะปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวมาเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ จะต้องมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือเป็นสมาชิกสถาบันเกษตรกร และมีความประสงค์จะขอรับสินเชื่อจากสถาบันเกษตรกร

ในส่วนของมาตรการจูงใจ คือ ถ้าปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีความชื้นไม่เกิน 14.5% ผู้ประกอบการจะร่วมมือในการรับซื้อในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8 บาท จะมีกำไรไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 บาท และจะให้สินเชื่อวงเงินไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ต่อราย โดย ธ.ก.ส. จะคิดดอกเบี้ยในอัตรา 4% ต่อปี แต่จะเก็บจากเกษตรกรเพียง 0.01% ต่อปี ที่เหลืออีก 3.99% รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ ธ.ก.ส. เนื่องจากเป็นโครงการระยะสั้น เกษตรกรที่กู้ไปต้องชำระคืนภายใน 6 เดือน หรือหากมีความจำเป็นก็จะต้องไม่เกิน 12 เดือน ถ้าไม่ชำระตามกำหนดให้ธ.ก.ส.คิดดอกเบี้ยตามระเบียบของธนาคารได้

ทั้งนี้ รมว.เกษตรฯ ยืนยันว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกจะมีตลาดรองรับทั้งหมด เนื่องจากจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาก่อนที่จะกำหนดพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งวิธีการนี้ช่วยลดงบประมาณลงได้มาก โดยครั้งนี้เสนองบประมาณ 461 ล้านบาท และของบสำหรับการประกันภัยความเสี่ยงให้เกษตรกรอีกไร่ละ 65 บาท รวม 130 ล้านบาท แต่ ครม.เห็นว่าเรื่องการทำประกันภัย ควรให้ผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ