พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบความคืบหน้าโครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐ หรือโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ โครงการนี้แยกเป็น 2 ส่วน คือ การทำอินเตอร์เน็ตประชารัฐเพื่อทุกพื้นที่ของประเทศ และการทำให้ประเทศไทยเป็น Digital Hub โดยทั้งหมดกำหนดกรอบวงเงินไว้ 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น อินเตอร์เน็ตทั่วประเทศไทย 1.5 หมื่นล้านบาท และอีก5 พันล้านบาทเป็นเรื่อง Digital Hub แต่ใช้ในการทำอินเตอร์เน็ตทั่วประเทศจริงๆแค่ 1.3 หมื่นล้านบาท จึงโอนที่เหลือ 2 พันล้านบาทไปทำเรื่อง Hub ของอาเซียน
สำหรับหมู่บ้านในประเทศไทยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ที่บริษัทหรือเอกชนทำอินเตอร์เน็ตอยู่แล้วเพราะคุ้มค่าการลงทุน แต่อีกที่เป็นพื้นที่ที่ไม่คุ้มค่าการลงทุนทางพาณิชย์เป็นพื้นที่ที่ห่างไกลบริษัทต่างๆไม่เข้าไปทำซึ่งตรงนี้คือส่วนที่รัฐจะเข้าไปทำกระทรวงดิจิทัลกำหนดเป็น 2 โซน คือ โซน C เป็นโซนที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์กระทรวงดิจิทัลฯ รับผิดชอบ 24,700 หมู่บ้านและให้บมจ.ทีโอทีเป็นผู้ดำเนินการ เสร็จแล้วตั้งแต่ 19 ธ.ค. 2560
อีกส่วนคือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้รับผิดชอบจำนวน 15732 หมู่บ้านใช้งบกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจารโทรคมนาคม(กทปส.)
อีกพื้นที่ คือ โซน C+ คือโซนที่ไม่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์แล้วยังยากต่อการเดินทางเข้าถึง ทุรกันดาร กสทช.รับผิดชอบทั้งสิ้น 3920 หมู่บ้าน ใช้งบไป 11, 361 ล้านบาท จึงยังมีงบเหลือ 1638.66 ล้านบาท จึงควรจะนำไปทำให้โครงข่ายอินเตอร์เน็ตสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ เช่น การจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าดับ ป้องกันไฟกระชาก อบรมผู้แทนชุมชนในการนำอินเตอร์เน็ตไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนชุมชนเป็นชุมชนดิจิทัล ครม.เห็นชอบในหลักการโดยขอให้ไปทำความตกลงกับสำนักงบประมาณและขอให้ใช้เฉพาะเท่าที่จำเป็นจริงๆ