ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดแนวโน้มสินเชื่อแบงก์ปีนี้มีโอกาสขยายตัวสูงกว่า 4.8-5.3% จากแรงหนุนสินเชื่อรายย่อย-เอสเอ็มอี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 26, 2018 12:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แนวโน้มสินเชื่อธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศปี 2561 มีโอกาสขยายตัวสูงกว่ากรอบประมาณการที่คาดไว้ที่ 4.8-5.3% โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากสินเชื่อรายย่อยที่คาดว่าจะโตดีในทุกองค์ประกอบ ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อที่ได้แรงหนุนจากยอดขายรถใหม่ที่สูงกว่าเป้าหมายเดิม สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่คงเพิ่มขึ้นจากปัจจัยฤดูกาล และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากการเร่งโอนกรรมสิทธิ์ ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีเริ่มทยอยฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ การเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงท้ายปีอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นสินเชื่อภาคธุรกิจและบรรเทาผลกระทบจากการชำระคืนหนี้รายใหญ่ลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2561 จากเอกสารรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน(ธ.พ.1.1) โดยภาพรวมสินเชื่อสุทธิเดือน ส.ค. 2561 เพิ่มขึ้น 2.64 หมื่นล้านบาท เป็น 11.34 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.23% จากเดือนก่อน และ 5.85% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อรายย่อยทุกประเภท ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีเริ่มเป็นบวกเล็กน้อย

แต่เนื่องจากยังมีการชำระคืนสินเชื่อภาคธุรกิจทำให้สินเชื่อสุทธิยังโตในกรอบจำกัด อย่างไรก็ดีด้วยแรงส่งเศรษฐกิจที่ดีเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งในภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และรายได้เกษตรกร ประกอบกับการเข้าสู่ช่วงฤดูกาลใช้จ่ายท้ายปีทำให้คาดว่าภาพรวมสินเชื่อในช่วงที่เหลือของปีจะยังสามารถรักษาช่วงบวกได้อย่างต่อเนื่อง

ด้านภาพรวมเงินฝากเดือน ส.ค. 2561 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 2.53 หมื่นล้านบาท หรือ 0.21% MoM เป็น 12.27 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับขนาดการลดลงในเดือนก่อนหน้า นำโดยเงินฝากในกลุ่ม CASA นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดือน ส.ค. ปีก่อน อัตราเพิ่มของเงินฝากชะลอลงมาที่ 4.73% และ 1.43% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนและสิ้นปีก่อนตามลำดับ

ส่วนภาพรวมสภาพคล่องของธนาคารตึงตัวขึ้น ตามการขยายตัวของสินเชื่อสุทธิที่สวนทางกับเงินฝากที่รวมตราสารหนี้และเงินกู้ยืม ทำให้สัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากที่รวมตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ขยับขึ้นเป็น 87.63% จากระดับ 87.23% ในเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปียังต้องติดตามผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภคและแนวโน้มสินเชื่อรายย่อย จากการส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการปรับเพิ่มเกณฑ์การกำกับดูแลการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เตรียมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ เพื่อควบคุมความเสี่ยงเชิงระบบและภาวะการเก็งกำไรที่อาจไปสู่ปัญหาฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมในเขตเมือง

สำหรับแนวโน้มเงินฝาก เชื่อว่าการแข่งขันด้านราคาน่าจะอยู่ในกรอบจำกัด ขณะที่ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุนการเงินให้สอดคล้องกับความสามารถในการหารายได้ และการเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงฐานลูกค้ารายใหม่ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในระยะถัดไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ