นายเอียน แพสโค ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วนของแกรนท์ ธอนตัน ในประเทศไทย กล่าวว่า จากข้อมูลผลสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอนตัน (Grant Thornton International Business Report-IBR) ในไตรมาส 2/61 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจไทยลดลงจากค่าเฉลี่ยสุทธิ 16% มาที่ 2% ซึ่งแม้ค่าดัชนีจะไม่สูง แต่เมื่อดูในรายละเอียดผลสำรวจอาจไม่แย่อย่างที่คิด เพราะภาคธุรกิจที่"มองแนวโน้มในแง่ลบมาก"มีภาพรวมลดลงจาก 8% เหลือ 2% นับตั้งแต่ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา และจำนวนตอบรับที่เป็นกลาง (มองแนวโน้มไม่เป็นไปในแง่ดีหรือแง่ลบ) เพิ่มขึ้นจาก 48% เป็น 58% ในช่วงเวลาเดียวกัน
"ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจไทยลดลงเหลือ 2% สาเหตุหลักจากธุรกิจส่วนใหญ่ให้ความเชื่อมั่นในระดับกลางๆ มากขึ้นกว่าไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตาม ดัชนีอื่นๆ หลายตัวส่งสัญญาณเชิงบวก แต่มีปัจจัยพึงระวังเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสหรัฐและแนวโน้มการชะลอตัวของการจ้างงาน"นายแพสโค กล่าว
ด้าน นายธีรศักดิ์ ฉั่วศรีสกุล หุ้นส่วนของแกรนท์ ธอนตัน ในประเทศไทย กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศไทย 4.0 ว่า แนวโน้มดังกล่าวนับเป็นเรื่องปกติเมื่อมีการคาดการณ์ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้น โดยผลสำรวจส่วนใหญ่จะมองกลางๆ อาจเพราะหลายๆ ธุรกิจต่างสงวนท่าที และรอจนกว่าจะได้เห็นความคืบหน้าของเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งรัฐบาลก็ได้มีประกาศสนับสนุนโครงการในหลายด้าน รวมถึงการศึกษา และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งภาคธุรกิจน่าจะต้องการเห็นผลลัพธ์ก่อนจึงจะกล้าเดินหน้าเต็มตัว
การตอบรับจากภาคธุรกิจไทยบ่งชี้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในหลายดัชนีอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การคาดการณ์ด้านรายได้, การส่งออก, การวิจัยและพัฒนา รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีต่างมีคะแนนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตัวเลขของข้อจำกัดด้านการเติบโตทางธุรกิจกลับมีคะแนนลดลง ซึ่งนับเป็นเรื่องดีต่อธุรกิจไทย เช่น การขาดแคลนเงินทุน ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศที่ไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันกฎระเบียบราชการที่ซับซ้อน และการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะการทำงานยังคงเป็นความท้าทายหลักสำหรับธุรกิจส่วนใหญ่ในไทย
"เป็นที่ทราบมานานแล้วว่าระบบราชการอาจเป็นปัญหาต่อการปฏิรูปประเทศไทย 4.0 อีกเรื่องคือ อัตราก้าวหน้าของการพัฒนาเศรษฐกิจก็ถือเป็นความท้าทายสำหรับสถาบันการศึกษาเนื่องจากต้องเตรียมความพร้อมให้คนรุ่นใหม่เพื่อรองรับเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ข่าวดีคือธุรกิจเริ่มจะเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ เมื่อผนวกกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นและมีโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศที่ดีกว่าเดิม อนาคตเศรษฐกิจไทยจะยังก้าวหน้าไปได้อีกไกล"นายธีรศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจของอาเซียนเพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่ที่ 64% จากผลสำรวจทั่วทั้งภูมิภาค ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจทั่วโลกยังอยู่ในเกณฑ์ดี 54% ลดลงจาก 61% ซึ่งเคยเป็นจุดสุงสุดเป็นประวิติการณ์ในไตรมาสแรกของปีนี้ และแม้ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในภาพรวมอาเซียนจะสูงขึ้น แต่ในสิงคโปร์กลับลดลงเล็กน้อยจากค่าเฉลี่ยสุทธิ 34% เหลือ 32%
ผลสำรวจ IBR ระบุว่า ระดับความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจดังกล่าวยังมีสิ่งที่ต้องระวัง ธุรกิจทั่วอาเซียนจำนวนมากแสดงความกังวลถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยมีแนวโน้มว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ปีนี้เรื่อยไปจนถึงปี 62 โดยธุรกิจในอาเซียน ที่ระบุว่าความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยจำกัดการเติบโตทางธุรกิจ มีอยู่ 36% เพิ้มขึ้นอย่างมากจาก 29% ในไตรมาส 1/61 และ 26% ในไตรมาส 4/60
นายเอียน กล่าวถึงความกังวลเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐที่อาจกระทบต่อธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า หากเกิดเหตุการณ์นั้นจริง บริษัทสามารถป้องกันความเสี่ยงได้ด้วยการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่ในตอนนี้ หรือตัดสินใจว่ามีแผนอย่างไรหากอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนเกิดขึ้นจริง จะรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั้นไว้เองหรือว่าจะส่งต่อไปยังลูกค้า วิธีนี้จะช่วยเตรียมความพร้อมล่วงหน้าหากตลาดผันผวน และจะลดผบกระทบลงได้มาก
ทั้งนี้อัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียวที่มีผลต่อระดับความเชื่อมั่น อีกหนึ่งปัจจัยที่ควรพิจารณา คือ เรื่องอัตราการจ้างงานที่คาดว่าจะลดลงทั่วทั้งภูมิภาค ตัวเลขปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า มีเพียง 31% ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดการร์ว่าจะสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้ อนึ่ง อัตราการจ้างงานที่ลดลง 6% จากไตรมาสที่ 1 นับเป็นตัวเลขต่ำที่สุดจากปลายปี 2559 เป็นต้นมา แสดงถึงปัจจัยที่ซับซ้อนของภูมิภาค แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นจะสูงขึ้นก็ตาม