ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 51 มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากปี 50 เนื่องจากสภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงตามดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะลดลงจากปี 50 ในขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิยังมีความไม่แน่นอนและอาจจะผันผวน ขึ้นอยู่กับขนาดความเสียหายของปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพในสหรัฐ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐ และนโยบายการดูแลเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนจากทางการ นอกจากนี้ สภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจยังอาจถูกดึงออกไปจากการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ รวมทั้งการดูแลสมดุลสภาพคล่องจากทางการ
นอกจากนี้ สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงอีกจากการโยกย้ายเงินฝากไปลงทุนในช่องทางการออมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรภาครัฐ หุ้น กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ และทองคำ รวมทั้งอาจถูกดึงออกไปจากการคาดการณ์การขยายตัวของสินเชื่อในอัตราที่เร่งขึ้นจากปีก่อน ซึ่งได้รับแรงหนุนหลักมาจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นภายหลังปัญหาการเมืองในประเทศทยอยมีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ รวมถึงการที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากมีกำหนดจะจัดตั้งขึ้นในปี 51 ซึ่งแม้ว่าในปีแรก ผลกระทบอาจจะยังมีไม่มาก เพราะเงินฝากยังคงได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวน แต่ก็อาจจะมีผลทางจิตวิทยาต่อผู้ฝากเงิน โดยคาดว่าปริมาณสภาพคล่องที่วัดจากอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก ณ สิ้นปี 51 อาจเพิ่มขึ้นมาที่ร้อยละ 81.7-83.1 จากประมาณร้อยละ 81.0 ณ สิ้นปี 50
อย่างไรก็ตาม แม้สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยอาจมีแนวโน้มปรับลดลงอีกในปี 51 จนอาจประสบกับภาวะสภาพคล่องที่ตึงตัวขึ้น แต่ก็คงจะไม่ลดลงมากจนกระทั่งธนาคารพาณิชย์ต้องประสบกับภาวะขาดสภาพคล่องโดยฉับพลัน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ คงจะมีการบริหารสภาพคล่องล่วงหน้าเพื่อรักษาฐานลูกค้าและส่วนแบ่งตลาดเงินฝากของตนไว้อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งรองรับการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อในปี 51 ดังจะเห็นได้จากการที่ธนาคารพาณิชย์มีการทยอยนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษที่จูงใจออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 50 ที่ผ่านมา เพื่อหลีกเลี่ยงการที่ธนาคารจะต้องระดมเงินด้วยต้นทุนที่แพงขึ้นในอนาคต
แต่หากปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นด้วยความถี่ที่มากขึ้น ในท้ายที่สุดแล้ว ภาวะการแข่งขันระหว่างธนาคารด้วยกันเอง และกับผลิตภัณฑ์การออมอื่นๆ อาจนำมาสู่การที่ธนาคารพาณิชย์ต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเป็นการทั่วไป ประมาณร้อยละ 0.25-0.50 เป็นอย่างน้อยในปี 51
ขณะที่สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 50 (ม.ค.-พ.ย.) มีจำนวนลดลงประมาณ 5.74 หมื่นล้านบาท มาอยู่ที่ 6.79 แสนล้านบาท จาก 7.36 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 49 สอดคล้องกันกับฐานะเงินฝากและสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ผลต่างของยอดคงค้างเงินฝากและยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อสุทธิมีจำนวนลดลงจาก 1.03 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 49 มาอยู่ที่ประมาณ 9.23 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนพ.ย.50
การที่สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 50 ปรับตัวลดลงนั้น เป็นเพราะทิศทางขาลงของอัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี ส่งผลให้ประชาชนมีการโยกย้ายเงินฝากออกไปลงทุนในช่องทางการออมอื่นๆ ที่อาจจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ทำให้อัตราการเติบโตของเงินฝากชะลอตัวลงเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วง 11 เดือนแรกของปี 50 สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยจะลดลง แต่ปริมาณสภาพคล่องโดยรวมที่มีอยู่ 6.79 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนพ.ย.50 ก็ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงและน่าจะมากพอสำหรับรองรับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ในระยะถัดไป
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/ศศิธร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--