นางลักขณา ตั้งจิตนบ ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลและสารสนเทศ ปฏิบัติงานฝ่ายติดตามและประเมินผลคลัสเตอร์ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้บูรณาการความร่วมมือกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากล(SME PRODUCT DEVELOPMENT) ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารถิ่น สมุนไพร และเครื่องสำอาง
เนื่องจากพบว่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นส่วนใหญ่ของไทยที่ผลิตโดยผู้ประกอบการSME กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการรายย่อยที่มีอยู่ทั่วประเทศยังไม่สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์และแพร่หลายเท่าที่ควร ปัญหาส่วนใหญ่เป็นเพราะขาดการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่มีความสอดคล้องต่อเนื่องกัน รวมถึงอาจเป็นเพราะไม่ได้มีการวิเคราะห์ตลาดก่อน จึงส่งผลต่อการรับรู้ และความสนใจของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย โดยโครงการฯจะเน้นความสำคัญที่ความเหมาะสมของบรรจุภัณฑ์ (Packaging) อายุการเก็บรักษา (Shelf life) และการออกแบบ (Design) ให้มีเอกลักษณ์สามารถผลิตและขายได้ในเชิงพาณิชย์ สร้างความเข้มแข็งให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดอย่างยั่งยืน
"โดยหลักๆแล้วมีเป้าหมายเพื่อต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ของผู้ประกอบการใน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาหารถิ่น สมุนไพร และเครื่องสำอาง ให้มีความรู้ความเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคในตลาดเป้าหมาย จนสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยที่สินค้ายังสามารถคงอัตลักษณ์ของถิ่นกำเนิดและมีมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับของตลาด ซึ่งในภาพรวมที่เราได้แน่นอนก็คือเกิดการพัฒนาทักษะและความรู้ของบุคลากรในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพและมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการSME โดยกำหนดเป้าหมายพัฒนาผู้ประกอบการ 2,000 ราย มี 1,000 ผลิตภัณฑ์ได้รับการพัฒนาเชิงลึก สามารถสร้างยอดขายได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งพันล้านบาทต่อปี"
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวความคืบหน้าของการดำเนินงานโครงการดังกล่าวว่า สถาบันอาหารได้คัดเลือก SME จำนวน 500 รายที่มีศักยภาพเหมาะสมเข้าสู่การพัฒนาเชิงลึก ให้สิทธิ์รายละ 2 ผลิตภัณฑ์ รวม 1,000 ผลิตภัณฑ์ มารับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือบรรจุภัณฑ์ เพื่อจัดทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โดยเป็นการทำ Workshop จากผู้เชี่ยวชาญ พร้อมจัดทำข้อมูลรายละเอียดเนื้อหาผลิตภัณฑ์สู่สาธารณะ และเตรียมพร้อมนำออกสู่ตลาด อาทิ เค็มบักนัด ซึ่งภายใต้โครงการ ได้มีการพัฒนาเค็มบักนัดทำเป็นหลนอบแห้ง จากจังหวัดอุบลราชธานี โดยใช้เทคโนโลยีการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง ที่เรียกว่าฟรีซดราย (Freeze dry) มาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อรักษารสชาติ สีและคุณค่าทางโภชนาการ ของผลิตภัณฑ์ได้อย่างครบถ้วนมากที่สุดและสามารถกลับคืนสู่สภาวะเดิมได้เมื่อเติมน้ำ สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องปกติได้อย่างน้อย 1-2 ปี โดยไม่ต้องเก็บในห้องเย็น สะดวกต่อการขนส่ง และการกระจายสินค้า
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารถิ่น สมุนไพร และเครื่องสำอางเพื่อยืดอายุผลิตภัณฑ์ให้สามารถกระจายสินค้าสู่เชิงพาณิชย์ได้ อาทิ ขนมข้าวตอกตั้ง ขนมหวานไทยโบราณจากจังหวัดเพชรบุรี, ขนมผูกรัก ขนมท้องถิ่นชื่อแปลกจากภาคใต้จังหวัดสตูล, น้ำพริกจิ้งหรีดจากจังหวัดร้อยเอ็ด, แชมพูสมุนไพรรากฟักข้าว จากจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น โดยได้มีการส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพไปเปิดตลาดการค้าทั้งในและต่างประเทศ เป็นการเพิ่มโอกาสช่องทางตลาดที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นอีกด้วย