สนข.ดันแผนแม่บทระบบขนส่งทางรางเขตกทม.-ปริมณฑล เฟส 2 เพิ่มโครงข่ายที่ยังเข้าไม่ถึง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 26, 2018 18:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าผลการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะ 2 (M-MAP 2) ว่าปัจจุบันกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 1 ซึ่งจากการดำเนินการโครงการรถฟ้าก่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่แหล่งที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน ย่านธุรกิจ ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทรวงคมนาคมจึงได้มอบหมายให้ สนข. ทำการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะ 2 (M-MAP 2) โดยเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้บันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Cooperation : MOC) ด้านการพัฒนาระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งดำเนินการโดย กระทรวงคมนาคมของไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism : MLIT)

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า การศึกษาและจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะ 2 (M-MAP 2) มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการพัฒนาแผนแม่บท M-MAP 2 เพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะ 2 และปรับปรุงแบบจำลองการเดินทาง ระดับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (extended Bangkok Urban Model : eBUM) สำหรับใช้วิเคราะห์ และคาดการณ์ปริมาณความต้องการการเดินทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งจัดทำแผนการดำเนินงานระยะกลางและระยะยาว

โดยในระยะที่ 1 : ปี 2560-2561 เป็นการจัดทำทิศทางและนโยบายการพัฒนาฯ พร้อมทั้งปรับปรุงแบบจำลอง eBUM ส่วนระยะที่ 2 : ปี 2562 เริ่มลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลรายละเอียดที่ใช้ในการพัฒนาแผนแม่บทฯ และในระยะที่ 3 : ปี 2563 จะเป็นการจัดทำแผนแม่บท M-MAP 2 อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ทิศทางการพัฒนาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะ 2 (M-MAP 2) แบ่งออกเป็น 5 ด้าน ประกอบด้วย

1. เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่ศูนย์กลางเมืองกรุงเทพมหานคร โดยการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการคมนาคมขนส่งของระบบขนส่งมวลชนทางรางในปัจจุบันให้สูงขึ้น เช่น การเพิ่มขบวนรถไฟฟ้าและความถี่ในการให้บริการ พร้อมทั้งขับเคลื่อนให้มีการดำเนินการตามแผนระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 1 (M-MAP) อย่างครบถ้วน มีการเพิ่มโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่ศูนย์กลางเมืองที่ยังไม่มีโครงข่ายเข้าถึง และการส่งเสริมให้มีรูปแบบ การขนส่งสาธารณะต่อเนื่องหลายรูปแบบ

2. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาโครงข่ายรถไฟในภาพรวมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่ที่มีความต้องการการเดินทางสูงแต่โครงข่ายยังเข้าไม่ถึง และพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีการเชื่อมโยงระหว่างศูนย์กลางเมืองและเมืองรอง ส่งเสริมให้มีการใช้โครงข่ายรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในปัจจุบัน ให้มีการเชื่อมต่อกับโครงข่ายระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งส่งเสริมให้มีสถานีขนส่งสำหรับเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างศูนย์กลางเมืองและเมืองรอง ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีโดยรอบ

3. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงสถานี โดยการพัฒนาจุดเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการเดินทาง (Inter-modal facilities) เพื่อให้มีความสะดวกและความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ พร้อมกับบูรณาการการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี

4. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยให้ผู้โดยสารสามารถเข้าถึงข้อมูลการเดินทางได้อย่างสะดวก มีนโยบายอัตราค่าโดยสารที่ดึงดูดผู้ใช้บริการและเงินสวัสดิการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะจากนายจ้างประจำ และนโยบายด้านความปลอดภัยและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมไปถึงความรวดเร็วในการเดินทาง และมีมาตรการในการป้องกันและการแก้ไขปัญหาเมื่อประสบเหตุฉุกเฉินต่างๆ

5. เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสนามบิน (Global gateways) โดยการจัดเตรียมแนวเส้นทางที่เหมาะสมในการเดินทางเข้าสู่สนามบิน เพื่อลดระยะเวลาในการเดินทางเข้าสู่สนามบิน เช่น จัดให้มีรถไฟขบวนด่วนพิเศษ เป็นต้น

นายชัยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการกำหนดนโยบายและมาตรการ เพื่อให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้นนั้น จะต้องมีการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนเห็นประโยชน์และความสำคัญ เช่น การให้ใบรับรองแก่บริษัทที่สนับสนุนให้พนักงานใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ให้ความรู้ในเรื่องการใช้ระบบขนส่งสาธารณะในโรงเรียน มีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้พนักงานแต่ละบริษัทเดินทางมาทำงานโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การไม่ส่งเสริมให้ขับรถยนต์มาทำงานสำหรับพนักงานที่อาศัยอยู่ในรัศมีไม่เกิน 2 กิโลเมตร จากที่ทำงาน และให้มีการลดค่าโดยสารในช่วงเวลาไม่เร่งด่วนหรือเมื่อใช้บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะให้มีความปลอดภัยในการใช้บริการ เช่น การใช้บริการรถไฟฟ้าของเด็กนักเรียน เมื่อเด็กนักเรียนใช้บริการรถไฟฟ้าด้วยบัตรรถไฟฟ้าระบบจะส่งข้อความผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่แจ้งให้ผู้ปกครองทราบ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการใช้บริการ ตลอดจนมีการกำหนดมาตรการจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล โดยการจำกัดที่จอดรถและเพิ่มค่าจอดรถในย่านใจกลางเมือง กำหนดวันปลอดรถยนต์ (Car free day) และเพิ่มอัตราภาษีรถยนต์ เป็นต้น

เมื่อการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะ 2 (M-MAP 2) ดำเนินการแล้วเสร็จ จะใช้ในการวางแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ประชาชนจะสามารถเดินทางได้ด้วยความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัย ลดการใช้พลังงานในภาคขนส่ง ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ เกิดการพัฒนาพื้นที่ แก้ไขปัญหาการจราจร ตลอดจนจะเป็นระบบคมนาคมหลักที่สามารถรองรับการเดินทางที่เพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ