สศค.เผยเศรษฐกิจไทยเดือนส.ค.ขยายตัวดีต่อเนื่อง จากแรงขับเคลื่อนการบริโภค-ลงทุนภาคเอกชน-ส่งออกเป็นหลัก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 27, 2018 12:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ส.ค.61 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนสิงหาคมได้รับแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากการบริโภค สะท้อนจากการขยายตัวต่อเนื่องของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 70.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 43 เดือน สำหรับเศรษฐกิจไทยด้านการผลิตยังคงขยายตัวได้ดีในภาคการเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวต่อเนื่องและเป็นฐานการขับเคลื่อนการบริโภคที่สำคัญ

โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ดี สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ส.ค.61 ขยายตัวในระดับสูงที่ 27.2% ต่อปี โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากงาน Big Motor Sale 2018 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-26 ส.ค.61 และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ส.ค.61 กลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ที่ 3.9% ต่อปี สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือน ส.ค.61 ขยายตัว 1.7% ต่อปี นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ส.ค.61 อยู่ที่ระดับ 70.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และเป็นการปรับตัวสูงสุดในรอบ 43 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในสถานการณ์เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นต่อเนื่องในอนาคต ขณะที่รายได้เกษตรกรที่แท้จริงในเดือน ส.ค.61 ขยายตัว 3.4% ต่อปี

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนในเดือน ส.ค.61 ขยายตัวจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัว 28.1% ต่อปี เนื่องจากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ขยายตัว 23.7% ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ขยายตัว 7.3% ต่อปี และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ขยายตัว 3.3% ต่อปี ขณะที่ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าในระดับสูงที่ 23.3% ต่อปี

อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ส.ค.61 มีมูลค่า 22.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 6.7% ต่อปี และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 โดยเป็นการขยายตัวได้ดีในตลาดสำคัญ เช่น มาเลเซีย ASEAN-5 CLMV อินเดีย เป็นต้น ทั้งนี้ สินค้าที่สนับสนุนการส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า น้ำมันสำเร็จรูป ที่ขยายตัว 11.2% และ 11.1% ต่อปีตามลำดับ สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 23.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องที่ 22.8% ต่อปี โดยสินค้านำเข้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ วัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป เชื้อเพลิง และสินค้าทุนหักเครื่องบิน เรือ รถไฟ ทั้งนี้ ผลของมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่สูงกว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน ส.ค.61 ขาดดุลจำนวน 588 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนการฟื้นตัวของการผลิตภายในประเทศที่ทำให้มีการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานในเดือน ส.ค.61 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม นอกจากนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวต่อเนื่องที่ 8.1% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวได้ดีในหมวดพืชผลสำคัญ และหมวดปศุสัตว์ ที่ขยายตัว 14.0% และ 1.4% ต่อปีตามลำดับ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 92.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมที่ปรับตัวลดลงจากยอดคำสั่งซื้อที่ลดลง ประกอบกับในเดือน ส.ค.มีฝนตกต่อเนื่องและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้กระทบต่อกำลังซื้อในส่วนภูมิภาคให้ยอดขายชะลอตัว นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ส.ค.61 มีจำนวน 3.23 ล้านคน ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ 3.0% ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจากนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย เป็นสำคัญ โดยเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 38 เดือน ในขณะที่ นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี เช่น นักท่องเที่ยวชาวฮ่องกง ญี่ปุ่น อินเดีย และเวียดนาม เป็นต้น สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศมูลค่า 168.0 พันล้านบาท ขยายตัว 2.8% ต่อปี

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ส.ค.61 อยู่ที่ 1.6% ต่อปี เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.8% ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน ส.ค.61 อยู่ที่ 1.0% ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 4.0 แสนคน ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน ก.ค.61 อยู่ที่ 40.9% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งเพดานไว้ไม่เกิน 60% ต่อ GDP ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ เดือน ส.ค.61 อยู่ที่ระดับ 204.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.5 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ