พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมและกล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมประจำปี 2561 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เรื่อง "ยุทธศาสตร์ชาติ อนาคตไทย อนาคตเรา" โดยระบุว่า ยุทธศาสตร์เป็นเรื่องที่สำคัญ และทุกหน่วยงานถือเป็นตัวแทนทำให้ยุทธศาสตร์ชาติเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ ต้องมีการสร้างความเข้าใจและการรับรู้ให้ตรงกัน เพื่อให้ทุกคนเห็นอนาคตและเป้าหมายในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่วันข้างหน้า ซึ่งต้องมีก้าวแรกเสมอ และต้องช่วยกันประคับประคองให้เดินไปอย่างมั่นคง เพื่อให้รัฐบาลทุกรัฐบาลทำงานประสานกันได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นกรอบให้รัฐบาลต่อไปดำเนินการใช้งบประมาณอย่างถูกต้อง ไม่ผิดหลักการ
"เชื่อว่าทุกคนอยากให้ประเทศเจริญก้าวหน้า ซึ่งสิ่งแรกคือ การกำหนดบทบาทว่าประเทศเรายืนอยู่ตรงจุดใด สิ่งใดที่เรายังไม่ดี ก็ต้องพัฒนาขึ้นไปให้ดีขึ้น โดยมองประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นตัวอย่าง" นายกรัฐมนตรีกล่าว
พร้อมระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลได้ย้ำเสมอ คือการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนที่ต้องก้าวไปด้วยกัน โดยรัฐบาลนี้มีนโยบาย Thailand+1 และไทยแลนด์ 4.0 นำศักยภาพที่มีอยู่มาเป็นตัวกำหนดให้เกิดการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมแบบประชารัฐ ไม่ใช่ออกมาโจมตีทุกเรื่อง เพราะไม่เกิดประโยชน์ ทั้งนี้เห็นว่าทุกคนมีส่วนในการออกแบบประเทศไม่ให้กลับไปยืนอยู่จุดที่มีความวุ่นวายเหมือนในอดีต และทำให้ประเทศหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางให้เร็วที่สุด มุ่งให้เกิดความเท่าเทียม บูรณาการงบประมาณต่างๆ ในทุกพื้นที่ตามศักยภาพที่ได้วางไว้
"การกำหนดเป้าหมายของประเทศ คือต้องกำหนดอนาคตให้ชัดเจน เพื่อเดินไปสู่เป้าหมาย ต้องสร้างการรับรู้ และต้องจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนให้เหมาะสมกับสถาการณ์การเงิน การคลังในประเทศ" นายกรัฐมนตรีกล่าว
สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทย ในขณะนี้ซึ่งอยู่ประมาณ 42%นั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า หนี้สาธารณะในสัดส่วนดังกล่าวไม่ทำให้ระบบเศรษฐกิจเสียหาย เพราะไม่เกินระดับ 60% อีกทั้งรัฐบาลไม่ได้ก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเติม พร้อมยืนยันว่า วันนี้สถานะทางการเงินของไทยมีความมั่นคงในอันดับต้นๆ ของภูมิภาค และของโลก โดยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่มั่นคง นอกจากนี้ รัฐบาลได้แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และสัญญาขายฝากที่ดิน ทำให้สามารถเรียกคืนโฉนดที่ดินให้กับประชาชนได้ ซึ่งไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนแก้ไขปัญหานี้ได้
พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ทราบดีว่าทุกคนต้องการให้มีการเลือกตั้ง เพราะหวังว่าบ้านเมืองจะสงบ ดังนั้นต้องช่วยกันทำให้เกิดความเรียบร้อย และถ้ายังเดินหน้าประเทศในรูปแบบเดิมด้วยความอิสระเสรีที่มากเกินไป ก็จะส่งผลกระทบต่อกฎหมายหรือไม่ ดังนั้นจึงควรต้องคิดใหม่ ทำใหม่
ด้านนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า สภาพัฒน์ได้จัดการประชุมใหญ่ทางวิชาการขึ้นทุกปี เพื่อนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคม ในเรื่องที่เห็นว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ สำหรับการประชุมในปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อเรื่อง "ยุทธศาสตร์ชาติ อนาคตไทย อนาคตเรา" มีวัตถุประสงค์มุ่งสร้างการรับรู้และความเข้าใจในแนวคิดและสาระสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ให้กับภาคีการพัฒนา รวมถึงระดมความเห็นร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางการจัดทำร่างแผนแม่บทเพื่อขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาสำคัญในมิติต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า การพัฒนาประเทศในช่วงระยะเวลาของยุทธศาสตร์ชาติ มีเป้าหมายให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังคมเป็นธรรม ฐานทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในรูปแบบประชารัฐ ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง เน้นรักษาบ้านเมืองให้เกิดความสงบสุข ป้องกันแก้ไขปัญหาความมั่นคงที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาและเสริมสร้างทุกภาคส่วนให้มีความเข้มแข็ง โดยร่วมมือกับประเทศอาเซียน เพื่อให้ไทยอยู่ดี กินดี มีความสุขติด 1 ใน 10 อันดับแรกของโลก บ้านเมืองมีความมั่นคงและปลอดภัยในทุกด้าน ทุกระดับ ด้วยกลไกการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการทั้งกับส่วนราชการ ภาคเอกชน ประชาสังคม และองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศทั่วโลกบนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล เพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการดำเนินการของยุทธศาสตร์ชาติด้านอื่นๆ ให้สามารถขับเคลื่อนไปได้ตามทิศทางและเป้าหมายที่กำหนด
2. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เน้นให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขัน เป็นมหาอำนาจทางการเกษตร บนพื้นฐานแนวคิด 3 ประการ ได้แก่ (1) "ต่อยอดอดีต" จากอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และจุดเด่นทางทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย รวมทั้งความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ นำมาประยุกต์ผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจ และสังคมโลกสมัยใหม่ (2) "ปรับปัจจุบัน" เพื่อปูทางสู่อนาคต ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ ประเทศในมิติต่าง ๆ ทั้งโครงข่ายระบบคมนาคมและขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดิจิทัล และการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการอนาคต และ (3) "สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต" ด้วยการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ พัฒนาคนรุ่นใหม่และรูปแบบธุรกิจ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด เป็นแม่เหล็กการท่องเที่ยวระดับโลก มีการคมนาคมที่พาคนไทยเชื่อมไปทั่วโลก โดยมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และคนไทยมีรายได้ต่อหัวเพิ่มมากขึ้น
3. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ คนไทยทุกคนได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ทุกช่วงวัย ในสภาพแวดล้อมที่ดีตลอดช่วงชีวิต ให้เป็นคนดีเก่งและมีคุณภาพ มีจิตสำนึกร่วมกันในการสร้างสังคมที่น่าอยู่ มีสุขภาวะที่ดี ทั้งด้านกาย ใจ และสติปัญญา รวมทั้งได้รับการเสริมสร้างศักยภาพทางกีฬา ปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม ด้วยการร่วมมือกันของครอบครัว ชุมชน ศาสนา การศึกษา และสื่อ ปฏิรูปวิธีการเรียนรู้ ตระหนักถึงความสามารถที่หลากหลายและแตกต่างกันของทุกคน ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนา สู่การเป็นคนไทยที่มีทักษะสูง เป็นนวัตกรและนักคิด มีสัมมาชีพตามความถนัดของตน
4. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเสมอภาคระหว่างคนรวยและคนจน โดยรัฐให้หลักประกันการเข้าถึงบริการและ สวัสดิการที่มีคุณภาพอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการตนเอง โดยคนไทยทุกคนมีโอกาสได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ดึงพลังทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนพัฒนาประเทศโดยการสนับสนุนการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำเพื่อส่วนรวม ชุนชนท้องถิ่นมีความสามารถในการพัฒนา พึ่งพาและจัดการตัวเองได้ ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยที่รายได้ของกลุ่มคนรวยสุดและกลุ่มคนจนสุดต่างกันไม่เกิน 15 เท่า และมีจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางพัฒนาความเจริญไม่น้อยกว่า 15 จังหวัด เป็นต้น
5. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นยุทธศาสตร์ที่มีหัวใจสำคัญคือ "เติบโต สมดุล ยั่งยืน" และความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างกันทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างบูรณาการ ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งในการกำหนดกลยุทธ์และแผนงานบนพื้นฐานการเติบโตร่วมกันบนความสมดุลของเศรษฐกิจสีเขียว สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตที่นำสู่ความยั่งยืน เพื่อคนรุ่นใหม่ต่อไปอย่างแท้จริง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้เป้าหมายการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และฟื้นฟู นั่นหมายความว่า เราจะได้สูดอากาศที่ดีต่อร่างกายมากขึ้น
6. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ให้ความสำคัญกับการให้บริการด้วยหลัก "ภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชน และประโยชน์ส่วนรวม" ที่ยึดความต้องการของประชาชน ด้วยความสะดวกรวดเร็ว ทันสมัย จากบุคลากรภาครัฐที่ทำงานเพื่อประชาชน ยึดมั่นในคุณธรรมซื่อสัตย์ สุจริต ปลอดคอร์รัปชัน รวมทั้งปรับภาครัฐให้เป็นระบบดิจิทัล เปิดกว้าง เชื่อมโยงถึงกัน เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในส่วนของการปรับกฎหมายให้มีเท่าที่จำเป็น และให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน เป็นสากล และไม่เลือกปฏิบัติ
เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า เนื่องจากยุทธศาสตร์ชาติมีกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน 20 ปี และ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดว่าหลังจากจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเสร็จแล้ว จะต้องมีการจัดทำแผนแม่บท ตัวแผนแม่บทจะนำยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้านมาถ่ายทอดออกมาเป็นแผนแม่บทด้านต่าง ๆ ในแต่ละยุทธศาสตร์ก็อาจจะมีแผนแม่บทประมาณ 4 - 5 ด้าน เพื่อที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ โดยแผนแม่บทจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายที่มีความชัดเจน และในแต่ละเป้าหมายต้องมีการกำหนดแผนงานย่อยและโครงการที่จะดำเนินการในทุกช่วง 5 ปี ตามช่วงเวลาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังนั้น ช่วงระยะ 5 ปีแรกของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็จะครอบคลุมระยะเวลา 2561 – 2565 ระยะที่ 2 คือปี 2566 – 2570 เป็นต้น
"แผนแม่บท 5 ปี จะถอดออกมาจากยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน ซึ่งคาดว่าน่าจะมีแผนแม่บทรวมประมาณ 36 – 37 แผน และในแผนแม่บทจะมีแผนย่อย ๆ และโครงการต่าง ๆ จะอยู่ใต้แผนแม่บทดังกล่าวนี้ โดยรัฐบาลมีความคาดหวังว่า แผนแม่บทและโครงการภายใต้แผนแม่บท จะนำไปใช้เป็นคำของบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2563 ซึ่งในระบบราชการจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปีนี้ หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่การขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติต่อไป ระหว่างนี้จึงได้เตรียมการจัดทำร่างแผนแม่บทไว้ล่วงหน้า" นายทศพรกล่าว
พร้อมระบุว่า ยุทธศาสตร์ชาติ จึงเป็นการตั้งเป้าหมายใหญ่ให้ชัดเจน มุ่งให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 20 ปี และมีแผนอื่นๆ ที่มาช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ อาทิ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนความมั่นคง และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีทิศทางการพัฒนาเป็นไปในทางเดียวกัน เพื่อความสำเร็จและความก้าวหน้าของคนไทยและประเทศไทย
ดังนั้น ต้องใช้ความร่วมมือจากภาครัฐ, ภาคเอกชน, ภาควิชาการ, ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการขับเคลื่อนร่วมกันตามบริบทของตนเอง และมุ่งไปยังเป้าหมายเดียวกัน ประเทศจึงจะสามารถก้าวข้ามไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
"สศช. ขอเชิญชวนประชาชนทุกภาคส่วน เข้ามาร่วมแสดงความเห็นในการจัดทำร่างแผนแม่บทด้านต่าง ๆ ในช่วงของการจัดทำแผนแม่บทระหว่างนี้จนถึงเดือนตุลาคมจนถึงต้นพฤศจิกายน 2561 จะเปิดรับฟังความคิดเห็นเป็นระยะ ๆ ในยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน และร่างแผนแม่บทที่เกี่ยวข้องด้วย หรือสามารถแสดงความเห็นเข้ามาทางเว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ สศช.ที่เปิดเป็นเวทีให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้ตลอดเวลา" นายทศพร ระบุ