นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ.คาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนเอกชน (TOR) เข้ามาร่วมประมูลงานโครงการทางพิเศษพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มูลค่าลงทุน 3.1 หมื่นล้านบาท และเปิดประมูลได้ภายในเดือน ต.ค.นี้
ทั้งนี้ งานโครงการดังกล่าวแบ่งออกเป็น 5 สัญญา ประกอบด้วย งานโยธา 4 สัญญา สัญญาละ 7-8 พันล้านบาท และงานระบบอีก 1 สัญญา มูลค่างานราว 1 พันล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาผลการประมูลและประกาศผู้ชนะประมูลงานทั้งหมดได้ในระยะเวลา 3 เดือน จากนั้นเริ่มก่อสร้างในไตรมาส 1/62 ระยะเวลาก่อสร้าง 39 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 65
ขณะที่โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก มูลค่ากว่า 1.4 ล้านบาท และจะรวมส่วนต่อขยายทดแทน ตอน N1 เพิ่มเข้ามารวม มูลค่าอีก 7 พันล้านบาท รวมมูลค่าทั้งหมด 2.1-2.2 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข. ) คาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อขออนุมัติงบประมาณในต้นปีหน้า ดังนั้น น่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงไตรมาส 3/62 และใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี คาดเปิดให้บริการปี 65
"สนข.เห็นว่าเส้นทางดังกล่าวจะมีแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี ซ้อนทับอยู่ หาก สนข.ศึกษาแล้วเสร็จ ก็จะนำเข้า ครม.เพื่อขออนุมัติงบ และ การทางฯก็กำลังปรับปรุงแบบ ซึ่งมีบางช่วงที่ซ้อนทับกับสายสีน้ำตาลประมาณ 5 กม. ช่วงแครายไปเกษตรนวมินทร์ และทำส่วนต่อขยายทดแทน ตอน N1 จะทำให้งบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 1.4 หมื่นกว่าล้านบาทเป็น 2.1-2.2 หมื่นล้านบาท กำลังดูว่าจะนำงบจากไหน เพราะเงินที่ระดมทุนได้จากกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ไม่พอ"นายสุชาติ กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเตรียมเปิดจำหน่ายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund Infrastructure Fund:TFFIF) มุลค่า 4.5 หมื่นล้านบาท ในช่วงกลางเดือนต.ค.นี้ โดยให้ประชาชนทั่วไปสามารถจองซื้อขั้นต่ำ 1,000 หน่ยวย ราคาพาร์ 10 บาท โดยนำรายได้สุทธิ (หลังหักภาษีมูลค่าเพิ่ม) ประมาณ 40% ของทางพิเศษ 2 สายทาง คือ ทางพิเศษฉลองรัช และ ทางพิเศษบูรพาวิถี เข้าเป็นรายได้ของกองทุน TFFIF ซึ่งคาดว่ารายได้ที่จะเข้ากองทุนมีจำนวนประมาณ 2.2 พันล้านบาท
ผู้ว่าการทาง กทพ. กล่าวว่า กทพ.เดินหน้าทำโครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลเวย์) และทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (Missing Link) ระยะทางประมาณ 2.6 กม.ก่อนโดยในวันพรุ่งนี้จะลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างฐากรากและเสาตอม่อ Mainline (Westbound) จำนวน 8 ฐาน ของโครงข่ายทางเชื่อมระหว่างดอนเมืองโทลเวย์กับทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ระหว่าง กทพ.กับบริษัท เสริมสงวนก่อสร้าง จำกัด และจ้างผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้างฐานรากและเสาตอม่อ Mainline (Westbound) จำนวน 8 ฐาน มุลค่างาน 150 ล้านบาท และ โครงสร้างส่วนบนของโครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ กับบริษัท เอพซิลอน จำกัด มุลค่างาน 100 ล้านบาท รวมแล้ว 350 ล้านบาท โดย กทพ.จะเป็นผู้ออกงบประมาณส่วนนี้ไปก่อน และจะให้ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ เป็นผู้รับผิดชอบ
สำหรับกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินให้กทพ.จ่ายค่าชดเชยให้กับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด ซึ่งเป็นบริษทย่อยของ BEM รวมเป็นเงิน 4 พันล้านบาท (เงินต้น 1.79 พันล้านบาทรวมดอกเบี้ย) นั้น นายสุชาติ กล่าวว่ากำลังอยู่ระหว่างดำเนินการให้เรียบร้อยภายใน 90 วัน เพราะหลังมีคำสั่งศาลฯ กทพ.ต้องจ่ายให้ BEM ภายในระยะเวลาดังกล่าวหรือภายในเดือน ธ.ค.นี้ โดยขั้นตอนขณะนี้รอนำเสนอที่ประชุม ครม. และให้ ครม.แจ้งกลับมาว่า กทพ.ควรมีแนวทางอย่างไร
นายสุชาติ กล่าวว่า ฝ่ายบริหารจะเสนอแนวทางให้กับคณะกรรมการ กทพ. และเสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณาแนวทาง โดยยอมรับว่าหนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาจะเจรจากับ BEM เพื่อแลกการจ่ายค่าชดเชยกับการยืดระยะเวลาสัมปทานของทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ที่จะครบกำหนดในปี 63 ซึ่งสามารถต่ออายุได้ 10 ปี 2 ครั้ง อย่างไรก็ดี กทพ.ขอให้รัฐบาลช่วยเยียวยาให้ เพราะเรื่องนี้ กทพ.รับผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล