น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เตรียมออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ได้ภายในเดือน พ.ย.61 โดยระหว่างนี้ ธปท.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจ ต่อร่างแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน ผ่านทางเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทยจนถึงวันที่ 12 ต.ค.นี้
สำหรับหลักการและเหตุผลที่ ธปท.ต้องเข้ามากำกับดูแล เนื่องจากในปัจจุบันธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน มีบทบาทสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน เป็นแหล่งสินเชื่อที่พึ่งพาได้ โดยเฉพาะเมื่อมีความต้องการใช้เงินเร็วและไม่มีหลักฐานรายได้ประจำ แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายหรือผู้กำกับดูแลการประกอบธุรกิจนี้โดยเฉพาะ ทำให้ผู้ประกอบการที่มีอยู่จำนวนมากทำธุรกิจบนมาตรฐานที่ต่างกัน ทั้งอัตราดอกเบี้ย และการให้บริการ อีกทั้งที่ผ่านมา ธปท.ได้รับทราบข้อร้องเรียนจากประชาชนในการคิดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสูงเกินกำหนด หรือการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างไม่เป็นธรรม
"ธปท.จึงเห็นความจำเป็นของการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน ให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้ในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ยกระดับมาตรฐานการให้บริการของผู้ประกอบการ และผู้ใช้บริการได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม" น.ส.ดารณีระบุ
อย่างไรก็ดี ธปท.จะกำกับดูแลเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ส่วนผู้ประกอบการรายย่อยที่มีทุนจดทะเบียนต่ำกว่านี้ จะอยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ภายใต้ใบอนุญาตสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (พิโกไฟแนนซ์)
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ธปท.ระบุว่า ในปัจจุบันมีผู้ใช้บริการธุรกิจสินเชื่อดังกล่าวมากถึงประมาณ 3 ล้านราย จากผู้ประกอบการกว่า 1,000 รายทั่วประเทศ และมียอดคงค้างสินเชื่อในตลาดสูงถึง 2 แสนล้านบาท ซึ่งธุรกิจสินเชื่อประเภทนี้ถือว่าเป็นแหล่งเงินทุนของประชาชนระดับฐานราก และกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ แต่มีหลักประกัน