ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBEIC) ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมา แม้จะเกิดปัญหาวิกฤติการเงินในอาร์เจนตินา และตุรกี อีกทั้งยังมีความกังวลว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่บางประเทศที่มีปัญหาด้านเสถียรภาพและความเปราะบางทางเศรษฐกิจ แต่อีไอซีมองว่า Fed จะยังคงดำเนินนโยบายการเงินตามที่เคยสื่อสารเอาไว้ได้ เนื่องจาก Fed จะยังคงให้ความสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศเป็นอันดับแรก อีกทั้งผลกระทบที่อาจส่งผ่านมาสู่สหรัฐฯ มีจำกัด เนื่องจากในปัจจุบันสหรัฐฯ มีการออกกฎระเบียบควบคุมและบริหารความเสี่ยงสถาบันการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นกว่าในอดีต โดยมีการลดสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อแก่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ อีกทั้งภาคธุรกิจและการเงินของสหรัฐฯ ก็ลดสัดส่วนการลงทุนในกลุ่มคู่ค้า (counterparties) หรือสถาบันการเงิน (financial institutions) ที่มีความเสี่ยงสูงด้วยเช่นกัน
"ด้วยเหตุนี้ ความกังวลที่วิกฤติการเงินในต่างประเทศจะส่งผลเสียต่อภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จึงลดลงเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ในอดีต เช่น วิกฤติการเงินในกลุ่มประเทศละติน (1980s) หรือวิกฤติการเงินเอเชีย (1997) อย่างไรก็ตาม ช่องทางการส่งผ่านผลกระทบจากประเทศตลาดเกิดใหม่สู่สหรัฐฯ ที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป คือ ช่องทางความเชื่อมั่นของนักลงทุน (risk sentiment) เนื่องจากความกังวลของนักลงทุนอาจส่งผลเสียต่อตลาดหุ้นของสหรัฐฯ และทำให้ภาวะการเงินสหรัฐฯ ตึงตัวขึ้นได้"
การที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่แคบลง ซึ่งเป็นผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายอาจไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ได้ โดยเฉพาะในประเทศที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ (เช่นมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง และมีปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำ) ดังนั้น จึงเห็นธนาคารกลางของบางประเทศที่มีเสถียรภาพต่างประเทศอ่อนแอ เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย และฟิลิปปินส์ จำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นตามสหรัฐฯ เพื่อลดโอกาสที่เงินทุนเคลื่อนย้ายอาจไหลออกจากประเทศ และส่งผลเสียต่อเสถียรภาพระบบการเงินต่อประเทศได้
อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่างสหรัฐฯ และไทยกว้างขึ้น แต่อีไอซีมองว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากไทยมีสถานะการเงินระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่เกินดุลในระดับสูงและเงินทุนสำรองที่มีขนาดใหญ่สามารถรองรับความผันผวนจากเงินทุนเคลื่อนย้ายได้
ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. น่าจะให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่มีความเสี่ยงจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่น่าจะทรงตัวในกรอบเป้าหมายได้ในช่วงที่เหลือของปี และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง
อีไอซีมองว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งแรกของปีหน้า หรืออย่างเร็วคือในการประชุมเดือนธันวาคม ปี 2561 นี้ อย่างไรก็ดี วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยในครั้งนี้จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปกว่าวัฏจักรในอดีต
"อีไอซีมองว่า การพิจารณานโยบายการเงินของ กนง. ของไทยนั้น จะให้ความสำคัญต่อความเหมาะสมของนโยบายการเงินต่อภาวะเศรษฐกิจไทย มากกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed"