ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 61 มาที่ 4.6% จากเดิมคาด 4.5% ตามการขยายตัวที่สูงในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่มองเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังผ่อนลงตามแรงส่งจากการค้าและการท่องเที่ยวชะลอลง ขณะที่คาดว่าการบริโภคภาครัฐและภาคเอกชนเร่งตัวได้ดีกว่าที่เคยคาดไว้จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เศรษฐิจยังเติบโตได้ดี
อีกทั้งได้ปรับเพิ่มประมาณการสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขึ้นมาที่ 6.0% (จากกรอบคาดการณ์เดิมที่ 4.8-5.3%) สอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม
อย่างไรก็ตาม ยังคงมุมมองระมัดระวังต่อแนวโน้มสินเชื่อรายย่อย เนื่องจากกำลังซื้อของครัวเรือนหลายกลุ่มยังฟื้นไม่เต็มที่ ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยท้าทายหลายด้าน ซึ่งอาจกดดันคุณภาพของหนี้บางประเภท
ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 62 ยังมีความท้าทายจากปัจจัยภายนอกเรื่องของสงครามการค้าที่ยกระดับความรุนแรง อีกทั้งปัจจัยภายในจากวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้น ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ส่งสัญญาณเตรียมลดการผ่อนคลาย ดังนั้นคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยอาจเริ่มปรับขึ้นในระยะข้างหน้
น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 61 เพิ่มขึ้นเป็น 4.6% จากเดิม 4.5% หลังจากภาวะเศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตที่สูงในช่วงครึ่งปีแรก อย่างไรก็ดี มองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังที่ผ่อนแรงไปตามภาวะการค้าและการท่องเที่ยวนั้นจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 4 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 62
"มีหลายปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังนี้ผ่อนแรงลง เช่น การส่งออกที่ชะลอตัวลง การท่องเที่ยวจากที่ชะลอลงจากกรณีนักท่องเที่ยวจีน การนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นมากในเดือนส.ค. ซึ่งเหล่านี้มีผลกดดันต่อจีดีพี แต่โดยรวมแล้วทั้งปีเรายังมองว่า GDP น่าจะโตได้เพิ่มขึ้นในระดับ 4.6%" น.ส.ณัฐพร กล่าว
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในช่วงไตรมาส 3/61 GDP จะขยายตัวได้ราว 4.2% ส่วนไตรมาส 4/61 คาดว่าจะขยายตัวได้มากขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญจากภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่ประเมินการส่งออกปีนี้จะเติบโตตามประมาณการเดิมที่ 8.8% การนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 16.5% จากเดิม 12.5% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่าเดิมที่ 1.1% การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเป็น 4.2% จากเดิม 3.5% การบริโภคภาครัฐ เพิ่มขึ้นเป็น 2.5% จากเดิม 2.2% การลงทุนภาคเอกชนคงเดิมที่ 3.5% ในขณะที่การลงทุนภาครัฐปรับลดลงเหลือ 6% จากเดิม 8%
ด้าน น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า วัฎจักรดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ได้อยู่ในช่วงขาขึ้น คาดว่าจะทำให้เห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อีกอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 62 ต่อเนื่องจากที่คาดว่าจะปรับขึ้นอีก 1 ครั้งในปีนี้ ในขณะที่กนง.ได้มีการส่งสัญญาณที่จะเตรียมลดความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายลง ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยมีโอกาสจะปรับขึ้นในปี 62
"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กนง.มีแนวโน้มจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 62 ไตรมาสแรก 1 ครั้ง และไตรมาส 2 อีก 1 ครั้ง ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมน่าจะอยู่ในเดือน มี.ค. และมิ.ย. ในขณะที่สิ้นปีนี้ดอกเบี้ยของไทยจะยังคงอยู่ที่ระดับ 1.50%" น.ส.กาญจนาระบุ
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังประเมินสถานการณ์สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในปี 61 โดยปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6% เนื่องจากการเติบโตที่ค่อนข้างดีของสินเชื่อในหลายประเภทในช่วงครึ่งปีแรก สอดคล้องกับเศรษฐกิจในภาพรวมที่ขยายตัวได้สูงในครึ่งปีแรก โดยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีแรกได้รับแรงหนุนจากสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อรายย่อย เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล
ขณะที่ครึ่งปีหลังนี้ คาดว่าสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จะเพิ่มขึ้น 10.5% เติบโตตามทิศทางยอดขายรถที่ดีกว่าที่คาด ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิต คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 7% สินเชื่อส่วนบุคคล เพิ่มขึ้นน 2.5% และสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้น 5.7% ตามทิศทางตลาดที่อยู่อาศัย ขณะที่การแข่งขันยังคงรุนแรง
น.ส.กาญจนา มองว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่แนวโน้มเติบโตขึ้นตามจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จพร้อมโอน แต่อย่างไรก็ดี กำลังซื้อยังฟื้นตัวในกรอบที่จำกัดทำให้ยังต้องติดตามประเด็นคุณภาพสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง
ส่วน น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันมีความท้าทายและยังเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าติดตาม แต่ไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงเชิงระบบเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ซึ่งข้อกังวลต่อประเด็นความต้องการซื้อที่ไม่ได้เป็นความต้องการซื้อที่แท้จริงนั้น พบว่าส่วนใหญ่ 70% ของที่อยู่อาศัยที่ขายได้จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ซึ่งบางส่วนมีการซื้อโดยชาวต่างชาติ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกมาตรการ Macro-Prudential ซึ่งคาดว่าจะเป็นภายในไตรมาส 4 ปีนี้ ก็น่าจะช่วยให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวไปในทิศทางที่มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งเมื่อประกอบกับการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะเริ่มปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 62 แล้ว เชื่อว่าจะส่งผลให้แนวโน้มภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในระยะข้างหน้ายังเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่องจากภาวะตลาดที่ตึงตัว และจำนวนที่อยู่อาศัยค้างขายสะสมที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ซึ่งทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการระบายที่นานขึ้น โดยคาดว่าที่อยู่อาศัยค้างขายสะสมปี 61 จะมีประมาณ 190,000 ยูนิต และส่วนใหญ่จะเป็นคอนโดมิเนียม