ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ E-Commerce จะเป็นปัจจัยสำคัญผลักดันการค้าชายแดนของไทยเพิ่มเป็น 2 เท่าภายในปี 66

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 1, 2018 10:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าการค้าชายแดนของไทยจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 11.5% ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะถูกขับเคลื่อนโดยการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานกับจีนและเวียดนามเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดี อีกทั้ง ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นศูนย์กลาง E-Commerce และโลจิสติกส์ของภูมิภาค ซึ่งจะผลักดันให้การค้าชายแดนขยายตัวอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2561 มีมูลค่า 9.2 แสนล้านบาท ขยายตัว 6.5% โดยการค้าผ่านแดนไปจีนตอนใต้มีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ 24.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการส่งออก 525,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% และ การนำเข้า 397,258 เพิ่มขึ้น 15.6% ทั้งนี้ มาเลเซียยังคงมีสัดส่วนในการค้าชายแดนมากสุด แต่มีอัตราการเติบโตเพียง 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากราคายางพาราที่ลดลง ในขณะที่ การค้าผ่านแดนไปจีนตอนใต้มีอัตราการเติบโตสูงสุดถึง 24.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าอัตราการเติบโตของการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของไทยจะชะลอตัวจากอัตราการเติบโตที่ 9.8% ของปี 2560 เหลือ 6.5% ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าทั้งปี 2561 มูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนในรูปของเงินบาทจะขยายตัวราว 7.5% จากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มจะยังอยู่ในระดับสูง และอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงจากปีก่อน

อย่างไรก็ดี จากความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนและอาเซียน อาจกล่าวได้ว่าจีนได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอนุภูมิภาคและเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการค้าภายในภูมิภาค ทั้งนี้ การค้าภายในภูมิภาคยังคงมีศักยภาพในการเติบโตอยู่ โดยการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานภายในภูมิภาค ซึ่งจะเกิดจากการเชื่อมโยงทางบกเป็นหลัก จะช่วยผลักดันการค้าภายในภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าผ่านชายแดนให้เติบโตยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงจีนและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จะยิ่งเร่งให้มีการค้าชายแดนระหว่างไทยกับจีนมากขึ้น โดยเส้นทางรถไฟ Pan-Asia ที่เชื่อมโยงจีนกับไทยคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จภายในปี 2565 อีกทั้ง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) เริ่มมีการดำเนินการเพื่อเชื่อมโยงเมืองต่างๆ ในภูมิภาค ความเชื่อมโยงทางโลจิสติกส์เหล่านี้จะเป็นโอกาสอันดีที่จีนจะส่งออกสินค้าในประเทศและนำเข้าสินค้าจากเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ได้สะดวกมากขึ้น โดยระยะเวลาขนส่งทางบกจะรวดเร็วกว่าทางเรืออย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ ต้นทุนการขนส่งทางบกคาดว่าจะลดลงอย่างมาก ซึ่งจะทำให้มีการแทนที่การขนส่งทางเรือด้วยการขนส่งทางบกมากขึ้นและจะสนับสนุนให้การค้าชายแดนขยายตัวอีกด้วย ทั้งนี้ ในปัจจุบันการค้าชายแดนระหว่างไทยกับจีนตอนใต้โดยมากจะผ่านทางลาวและเวียดนาม ไปยังเขตปกครองตนเองกว่างซีในจีนตอนใต้ต่อไป ซึ่งแต่เดิมการขนส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ ไปยังกว่างซีทางเรือใช้เวลาถึง 14 วัน แต่ปัจจุบันจะใช้เวลาเพียง 6 วันทางบก นอกจากนี้ ภายใต้การพัฒนาเส้นทาง "Belt and Road Initiative" ของจีน กว่างซีจะกลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงประเทศจีนกับเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และมีตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญเนื่องจากเชื่อมต่อกับหลายมณฑลในจีน เช่น กวางตุ้ง หูหนาน ยูนนาน กุ้ยโจว รวมถึง นครฉงชิ่ง ซึ่งจะช่วยผลักดันการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนให้เติบโตยิ่งขึ้น

อีกทั้งการขยายตัวของ E-Commerce ที่ปัจจุบันมีการขยายตัวอย่างมากและมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคตข้างหน้า ซึ่งจะช่วยผลักดันการค้าผ่านชายแดนให้ขยายตัวมากขึ้น โดยจากการวิจัยของ Google และ Temasek คาดการณ์ว่าตลาด E-Commerce ในอาเซียนจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมถึง 30% ต่อปี และจะมีมูลค่าราว 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2567

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความพร้อมทางด้านดิจิตอลค่อนข้างสูง โดยประชากรมีการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือสูงสุดในภูมิภาค และจากการสำรวจของธนาคารโลก ประชากรไทยมีการใช้จ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) ค่อนข้างสูง ดังนั้น ไทยถือว่ามีศักยภาพทางโครงสร้างมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค ส่งผลให้บริษัทต่างชาติ เช่น Alibaba เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรม E-Commerce ในไทย โดยมุ่งหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ ซึ่งจะส่งเสริมการส่งออกสินค้าจากจีนมายังภูมิภาคอาเซียน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงตลาดในจีนได้มากขึ้น โดยส่วนมากจะเป็นในรูปแบบ Business-to-Business (B2B) ซึ่งจะช่วยผลักดันการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างจีนกับไทยมากขึ้น

นอกเหนือจากนี้ โครงการเขตการค้า E-Commerce ข้ามพรมแดนในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองหนานหนิงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจะช่วยกระตุ้นการค้าชายแดนระหว่างจีนกับเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ซึ่งภายในพื้นที่เขตการค้า E-Commerce ข้ามพรมแดน บริษัทสามารถทำเรื่องขออนุญาตส่งออกได้อย่างง่ายดายผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งช่วยลดความยุ่งยากและระยะเวลาในการส่งออกสินค้าผ่านศุลกากร ทั้งนี้ การนำเข้าผ่านทาง E-Commerce ข้ามพรมแดนของจีนเติบโตราว 58.3% ในปี 2560 และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของการค้าชายแดนระหว่างไทยและจีนยิ่งขึ้น โดย E-Commerce ข้ามพรมแดนของไทยคาดว่าจะขยายตัวราว 25% ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าจากจีนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่ม CLMV ซึ่งจะช่วยผลักดันการค้าชายแดนในภูมิภาคให้ยิ่งสูงขึ้น อีกทั้ง E-Commerce ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบ Business-to-Customer (B2C) จากการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้นและจากการพัฒนาระบบ E-Payment ภายในประเทศ โดยไทยและประเทศเพื่อนบ้านเริ่มมีการร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนธุรกรรมชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามประเทศ เช่น โครงการพัฒนาระบบจ่ายเงินผ่าน QR code ระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งชาวกัมพูชาสามารถซื้อสินค้าและบริการในประเทศไทยโดยใช้สกุลเงินเรียลของตนเองผ่านระบบ E-Payment นอกจากนี้ จากการที่ประเทศเพื่อนบ้านมีแนวโน้มที่จะมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สินค้าไทยได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ E-Commerce ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีศักยภาพที่จะเติบโตมากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ E-Commerce ในรูปแบบ B2C ในกลุ่มประเทศอาเซียนมีอัตราการขยายตัวที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ นอกภูมิภาค โดยจากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ E-Commerce ในรูปแบบ B2C ของไทยและเวียดนามเติบโตถึง 38.4% และ 36.9% ตามลำดับ นอกจากนี้ E-Commerce ในรูปแบบ B2B ยังมีโอกาสที่จะเติบโตอย่างมากในตลาดเวียดนาม ซึ่งจะช่วยผลักดันการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานอีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า E-Commerce จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันการค้าชายแดนให้เติบโตในอัตราที่เร็วขึ้น โดยท่ามกลางการเชื่อมโยงทางการค้าที่สูงขึ้นภายในภูมิภาค ไทยจะสามารถกอบโกยประโยชน์ได้มากสุดจากการเป็นศูนย์กลาง E-Commerce ของภูมิภาค ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ ไทยถือว่ามีศักยภาพและความพร้อมมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค ส่งผลให้การค้าชายแดนผ่านทาง E-Commerce ของไทย มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีในอีก 5 ปีข้างหน้า แม้ว่าประเทศอื่นจะพยามเพิ่มศักยภาพทาง E-Commerce มากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ