นางญาณี แสงศรีจันทร์ โฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ จนถึงวันที่ 28 กันยายน 2561 มีการเบิกจ่ายงบประมาณภาพรวมได้ 2,667,073 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,900,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 92% ต่ำกว่าปีก่อน 2.6% (ปีงบประมาณ 2560 เบิกจ่ายได้ 94.6%) โดยรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้จำนวน 373,034 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 659,781 ล้านบาท หรือคิดเป็น 56.5% ต่ำกว่าปีก่อน 9.4% (ปีงบประมาณ 2560 เบิกจ่ายได้ 65.9%) ในส่วนของเงินงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี เบิกจ่ายแล้วจำนวน 215,098 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 323,948 ล้านบาท หรือคิดเป็น 66.4%
โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2562 กรมบัญชีกลางได้เร่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ เพื่อให้หน่วยงานสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องและคล่องตัวขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการซ้อมความเข้าใจและกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อเร่งรัดจัดการหาพัสดุฯ ไปก่อนหน้านี้ โดยหน่วยงานของรัฐสามารถเริ่มกระบวนการจัดหาพัสดุได้ตั้งแต่ได้รับความเห็นชอบวงเงินงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยหากเป็นวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี เริ่มเมื่ออนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 รายหน่วยงานของรัฐเป็นที่สิ้นสุดแล้วก่อนเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
หากเป็นกรณีเงินงบประมาณที่ต้องดำเนินการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่าย หน่วยงานของรัฐได้รับอนุมัติให้โอนหรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่าย หรือสำนักงบประมาณได้อนุมัติแล้วแต่กรณี สามารถเริ่มดำเนินการกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้ และจะลงนามได้เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ และได้รับจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณแล้วเท่านั้น
"หากหน่วยงานสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ จะช่วยให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของหน่วยงานของภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ดังนั้น ในปีนี้จะให้แต่ละหน่วยงานตั้งคณะทำงานดูแล ติดตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงิน และแจ้งปัญหาอุปสรรค เพื่อให้สามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที และส่งผลให้เม็ดเงินในการเบิกจ่าย ช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย" โฆษกกรมบัญชีกลางระบุ