นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณถ่านหินสำรองเหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง มีปริมาณลดลงเหลือประมาณ 300-400 ล้านตัน ขณะที่มีปริมาณการใช้ราวปีละ 16 ล้านตัน เพื่อผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะทั้งหมด 2,400 เมกะวัตต์ (MW) จากหน่วยผลิตไฟฟ้าที่ 4-13 โดยปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของหน่วยที่ 4-7 กฟผ.ได้สร้างทดแทนรวมกำลังผลิตรวม 650 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD ) เดือน พ.ย. 61 ส่วนหน่วยที่ 8-9 กำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ จะหมดอายุช่วงปี 62-63 ซึ่งกฟผ.เสนอให้สร้างโรงไฟฟ้าทดแทนแล้ว แต่ยังต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงพลังงานจะเห็นชอบให้สร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนหน่วยที่ 8-9 หรือไม่ด้วย
ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากหน่วยที่ 10-13 ซึ่งมีกำลังผลิตรวม 1,200 เมกะวัตต์ จะทยอยหมดอายุปี 64-68 ซึ่งการผลิตไฟฟ้าทดแทนจากหน่วย 10-13 นี้ คาดว่าจะไม่สามารถสร้างทดแทนได้ เนื่องจากปริมาณถ่านหินที่ลดน้อยลง ดังนั้น หากกระทรวงพลังงานเห็นชอบสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนหน่วยที่ 8-9 แล้ว ก็จะทำให้ในช่วงหลังปี 70 กำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะก็จะเหลือในอนาคตประมาณ 1,250 เมกะวัตต์ และจะใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงราว 8 ล้านตัน/ปี ครอบคลุมอายุโรงไฟฟ้า 30 ปี
ทั้งนี้ กฟผ.ได้เสนอแนวคิดการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในภาคเหนือ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับปริมาณถ่านหินสำรองเหมืองแม่เมาะที่ลดต่ำลงในอนาคต โดยเห็นว่าภาพการจัดส่งไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะจะต้องเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะนับเป็นโรงไฟฟ้าหลักขนาดใหญ่ที่ส่งไฟฟ้าจากภาคเหนือมาภาคกลาง ก็อาจจะต้องเป็นการส่งไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าภาคกลาง ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นเชื้อเพลิงแทน หรืออาจจะเป็นการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทดแทน ซึ่งยังคงต้องรอดูความชัดเจนจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศระยะยาว (PDP) ที่กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำต่อไป