ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยควรจะเริ่มปรับเข้าสู่ช่วงขาขึ้นได้แล้วหรือไม่ ยังเป็นสถานการณ์ที่แม้จะเป็นระดับผู้ดูแลนโยบายด้านการเงิน และผู้ดูแลนโยบายด้านการคลังของประเทศ ต่างยังมีความเห็นแบ่งแยกเป็นสองมุม ท่ามกลางภาวะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก จะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในปีนี้และปีหน้า
"มุมน้ำเงิน"ในฐานะกำกับดูแลนโยบายการเงินของประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติมองว่าภายใต้สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจของไทยที่เห็นการขยายตัวของเศรษฐกิจชัดเจนเพียงพอแล้ว การใช้มาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจจะทำให้ทั้งประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงต่อภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยจึงมีความจำเป็นเพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน อีกทั้งเพื่อเริ่มสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy space) สำหรับอนาคต
ขณะที่กระทรวงการคลังในบทบาท"มุมแดง"ซึ่งเป็นผู้คุมนโยบายด้านการคลังของประเทศ ระบุว่าการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.50% เหมาะสมแล้วกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันของไทย ภายใต้แนวคิดการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลเข้ามากขึ้น ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าและกระทบกับรายได้ภาคการส่งออก ซึ่งนับเป็นเครื่องจักรสำคัญตัวหนึ่งที่ช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยในระยะที่ผ่านมา
แต่ไม่ว่าจะมีความคิดความเห็นจากระดับผู้กุมนโยบายออกมาในทิศทางใดก็ตาม สุดท้ายแล้วผู้ที่มีอำนาจเต็มในการตัดสินอยู่ในมือคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ก.ย.61 มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 1.50% มติครั้งนี้ไม่ได้สร้างเซอร์ไพร์สให้กับตลาดการเงิน เพราะนั่นเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้แล้ว แต่สิ่งที่เป็นจุดโฟกัสในครั้งนี้กลับอยู่ที่มติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ย นั่นหมายความว่ามี กนง. 2 เสียงสนับสนุนให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ถือว่ารอบนี้"เสียงแตก"เพิ่มขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน ๆ ที่ส่วนใหญ่มติจะออกมา 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.50% ต่อปี
นอกจากนี้ การแถลงมติ กนง.ในบทสรุปท้ายสุดยังบอกด้วยว่า "คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป แต่การดำเนินนโนบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบัน จะทยอยลดความจำเป็นลง" นี่จึงถือว่าเริ่มเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างหรือไม่จากผู้กำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ชี้แจงต่อประเด็นที่ตลาดเริ่มจับสัญญาณดังกล่าวว่า การสื่อความหมายดังกล่าวไม่ได้หมายความว่านโยบายการเงินจะเปลี่ยนทิศทางจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไปเป็นนโยบายการเงินแบบตึงตัวในทันทีทันใด โดยเชื่อว่ายังมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องในระยะปานกลางต่อไป
"เรายังมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย อย่าไปเข้าใจผิดว่าถ้าปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้วจะต้องปรับขึ้นตลอดไปเรื่อยๆ เหมือน FED แต่ของเราใช้หลัก Data Dependent คือประเมินในแต่ละช่วงเวลาของการตัดสินใจ ดังนั้น ไม่ได้หมายความว่าเมื่อปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้วจะมีการเปลี่ยนแนวนโยบายจากผ่อนคลายไปเป็นนโยบายแบบตึงตัว และในระยะปานกลางก็ยังมองว่านโยบายการเงินยังต้องอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง"ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ
พร้อมมองว่า หน้าที่ของธนาคารกลางจะต้องชั่งน้ำหนักและตัวแปรต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในแต่ละบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับช่วงสถานการณ์นั้นให้มากที่สุด และเห็นว่าในปัจจุบันแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อที่จะนำมาใช้พิจารณาในการดำเนินนโยบายการเงินไม่ได้สูงเหมือนในอดีต
ในทางกลับกันธนาคารกลางทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพระบบการเงินมากขึ้น การที่อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ทำให้คนประเมินความเสี่ยงทางการเงินต่ำกว่าที่ควรจะเป็น มีพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นโดยไม่เข้าใจความเสี่ยงอย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งนี้อาจสร้างความเสียหายต่อระบบการเงินได้มากกว่า
"นี่จึงทำให้ธนาคารกลางทั่วโลก หันมาให้ความสำคัญกับความเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพระบบการเงินมากขึ้น เพราะเสถียรภาพของเงินเฟ้อไม่ได้เป็นความเสี่ยงที่จะกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวเหมือนแต่เดิม" ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
สัญญาณทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ยจากมติ กนง. และคำชี้แจงของผู้ว่าการ ธปท.ดังกล่าว จึงพอจะทำให้หลายสำนักต่างฟันธงได้ว่าในปี 62 ดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะเริ่มเปลี่ยนทิศทางไปสู่ขาขึ้นอย่างแน่นอนแล้ว ส่วนจะปรับขึ้นแบบถี่ๆ หรือปรับขึ้นแบบห่างๆ คงต้องพิจารณาจากสภาวะแวดล้อมในขณะนั้นเป็นสำคัญ
น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มองว่า มีโอกาสจะได้เห็น กนง.เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งการเริ่มทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นเหมือนการปรับสมดุลนโยบายทางการเงินมากกว่าการคุมเข้มทางการเงิน เนื่องจากมองว่าขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันเริ่มไม่สอดคล้องกับทิศทางของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน การที่อัตราดอกเบี้ยถูกตรึงไว้ในระดับต่ำมากเกินไปเป็นเวลานาน ย่อมเป็นการเพิ่มความเสี่ยงด้านเสถียรภาพให้ระบบการเงินในระยะยาว
"พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นโดยประเมินความเสี่ยงในการลงทุนที่ต่ำกว่าความเป็นจริง การแยกมิติของเงินเฟ้อออกเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้าง และวัฎจักร นอกจากนี้ การส่งออกไทยที่ถูกชี้นำด้วยปัจจัยของภาวะการค้าโลกมากกว่าปัจจัยค่าเงินนั้น การทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย จึงเป็นเหมือนการปรับสมดุลนโยบายทางการเงินมากกว่าการคุมเข้มทางการเงิน" น.ส.รุ่ง กล่าว
ขณะเดียวกันยังเชื่อว่าในระยะ 12 เดือนนับจากนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะขึ้นไปแตะที่ระดับ 2.00% ต่อปี โดยถือว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวยังมีทิศทางแบบค่อยเป็นค่อยไปจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1.50% มาตั้งแต่ปี 58 ขณะที่เห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อปี 2554
ด้านนายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า ภายในสิ้นปีนี้จะยังไม่เห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากมติที่ประชุม กนง.แม้ FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ไปแล้วในการประชุมรอบล่าสุด และยังเห็นสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมรอบสุดท้ายของปีนี้ในเดือน ธ.ค.61 ก็ตาม
พร้อมฟันธงว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะได้เห็นในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า คือเดือน มี.ค. และไตรมาสสองราวเดือน มิ.ย.รวมเป็น 2 ครั้ง ภายในครึ่งปีแรก ซึ่งจะเป็นการทยอยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% ส่งผลให้ทั้งปี 62 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะแตะที่ระดับ 2.00%
นายเชาว์ ชี้แจงว่า การที่ไทยยังไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยไล่ตาม FED เหมือนประเทศอื่นนั้น เนื่องจากสถานะทางเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งเพียงพอ ฐานะการคลังดี การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง อัตราเงินเฟ้อต่ำ เงินบาทอยู่ในระดับแข็งค่า ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นที่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยไล่ตาม FED เพราะประเทศเหล่านั้นมียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง นักลงทุนไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจทำให้มีเงินทุนไหลออก ส่งผลให้ค่าเงินอ่อนค่า จึงทำให้ประเทศที่ประสบปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อหวังจะดึงเงินทุนต่างชาติไว้ในประเทศ
"เรามองว่าปีหน้า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง แต่ไม่ใช่ขึ้นเพราะถูกสถานการณ์บีบให้ขึ้นเหมือนบางประเทศที่เผชิญปัญหาเงินทุนไหลออก ซึ่งไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น ดูได้จากแม้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกเมื่อ 26 ก.ย. แต่เงินทุนยังไหลเข้าไทย บาทยังแข็งค่า ซึ่งสวนทางกัน นักลงทุนมองบ้านเราเป็นที่ที่มั่นคงสะท้อนจาก fund flow ในตลาดตราสารหนี้...เรามองว่าเมื่อจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยมาถึง กนง.คงขึ้นไประดับหนึ่งแต่ไม่ใกล้กับ FED มาก เราคาดว่าจะจบในครึ่งแรกของปีและไม่ต่อ คือขึ้น 2 ครั้งในครึ่งปีแรกและหยุด" กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBEIC) วิเคราะห์ว่า แม้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่างสหรัฐและไทยกว้างขึ้น แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ทำให้ กนง.ต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากไทยมีสถานะการเงินระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่เกินดุลในระดับสูงและเงินทุนสำรองที่มีขนาดใหญ่สามารถรองรับความผันผวนจากเงินทุนเคลื่อนย้ายได้
ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. น่าจะให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่มีความเสี่ยงจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่น่าจะทรงตัวในกรอบเป้าหมายได้ในช่วงที่เหลือของปี และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง
โดยมองว่า กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งแรกของปีหน้า หรืออย่างเร็วคือในการประชุมเดือนธันวาคม ปี 61 นี้ อย่างไรก็ดี วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยในครั้งนี้จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปกว่าวัฏจักรในอดีต
คงต้องจับตาว่าในการประชุม กนง.อีก 2 ครั้งที่เหลือภายในปีนี้ จะได้เห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีหรือไม่ หรือมติ กนง.จะมีเสียงแตกเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ แต่การขึ้นดอกเบี้ยไม่ว่าจะภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า ถึงอย่างไรแล้วก็คงหนีไม่พ้น ในมุมของประชาชนคนเดินดินกินข้าวแกงก็คงต้องเตรียมรับมือกับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นไว้แต่เนิ่นๆ