นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.ได้ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 61 โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยัง มีแนวโน้มขยายตัว แต่อาจไม่สูงเท่าช่วงครึ่งปีแรก จากผลของปัจจัยฐานเปรียบเทียบซึ่งคาดว่าจะทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยว เติบโตในระดับที่ชะลอลง
อย่างไรก็ดี มองว่ายังมีปัจจัยจากการขยายตัวของการบริโภค การลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัว การเบิกจ่ายงบประมาณภาค รัฐที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าการเบิกจ่าย รวมทั้งการขยายตัวของ GDP ในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งทำให้ กกร. มองว่า GDP ในปี 2561 จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4.4% ดังนั้น กกร. จึงปรับเพิ่มกรอบล่างของประมาณการอัตราการขยายตัวของ GDP ในปี 2561 เป็น 4.4-4.8% จากเดิม 4.3-4.8%
"กกร.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2561 ยังมีแนวโน้มขยายตัว แต่ไม่สูงเท่าในช่วงครึ่งปีแรก จากผล ของปัจจัยฐานเปรียบเทียบที่คาดว่าจะทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวเติบโตชะลอลง รวมทั้งมูลค่าสินค้านำเข้าที่เร่งตัวขึ้น ทิศทาง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้น ในขณะที่เงินบาทกลับมาแข็งค่าในเดือนกันยายน จากการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติในตลาด พันธบัตรไทย" นายกลินท์กล่าว
ด้านการส่งออกช่วง 8 เดือนแรกของปี 2561 การส่งออกขยายตัวได้สูง และคาดว่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีน่า จะได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อสินค้าจากคู่ค้าเพื่อรองรับเทศกาลปลายปี กกร. จึงปรับเพิ่มกรอบล่างของประมาณการอัตราการขยายตัว ของการส่งออกในปี 2561 เป็น 8.0-10.0% (จากเดิม 7.0-10.0%)
ประมาณการปี 2561 ณ 3 ก.ค. 61 ณ 2 ต.ค. 61 GDP 4.3-4.8% 4.4-4.8% ส่งออก 7.0-10.0% 8.0-10.0% เงินเฟ้อ 0.9-1.5% 0.9-1.5%
ขณะที่ด้านการท่องเที่ยว พบว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2561 นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยมีจำนวน 25.89 ล้าน คน เติบโต 9.9% โดยนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยเติบโต 16.5% หรือมีจำนวน 7.73 ล้านคน ทั้งนี้ สถานการณ์นักท่องเที่ยวจีนเดิน ทางท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา หดตัวลงทั้งการเดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งน่าจะมาจากสาเหตุสภาพเศรษฐกิจใน จีนที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว
"การที่กรมสรรพากรประกาศให้มี Down Town VAT Refund 3 แห่ง ซึ่งเป็นโครงการทดลองระยะ 6 เดือน (1 ตุลาคม 2561-31 มีนาคม 2562) ภาคเอกชนเห็นว่า จะเพิ่มความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ และส่งผลให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อันเป็นผลดีต่อภาพรวมการท่องเที่ยว" นายกลินท์ กล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร.เห็นว่าปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะถัดไปที่สำคัญ ได้แก่ ประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่มีแนวโน้มจะยกระดับความรุนแรงขึ้นอีก หลังจากสหรัฐฯ เดินหน้าจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่ม 10% ครอบคลุมมูลค่า สินค้าเกือบ 2 แสนล้านดอลลาร์ฯ เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ซึ่งท้ายที่สุดแล้วประเด็นนี้คงจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อการค้า การลงทุนและเศรษฐกิจไทยมากขึ้นในช่วงปี 2562 โดยประเมินในเบื้องต้นว่าอาจจะกระทบต่อการส่งออกประมาณ 0.6-0.8% ของ GDP
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว การค้ากับทั้งสองประเทศ ยังคงเป็นไปในแนวทางที่ดี โดยเฉพาะกับสหรัฐนั้น ที่ผ่านมาได้มีการจัดการประชุม "The New Digital Economy: Creating Thailand-U.S. Commercial Opportunities" เมื่อวันที่ 24 ก.ย. และได้มีการลงนาม MOU ระหว่างหอการค้าไทยและหอ การค้าสหรัฐฯ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ 1. MOU เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่างไทย-สหรัฐฯ และ 2. MOU เพื่อส่งเสริมนโยบาย Digital Economy ของประเทศไทย และการส่งเสริมด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-สหรัฐฯ โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่างไทย–สหรัฐฯ เพื่อเป็นกรอบการทำงานระหว่างกันในอนาคต ซึ่ง จะเป็นผลดีและเอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ Start up และ SME ซึ่งจะตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 ให้เกิดผล เป็นรูปธรรมได้เร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น ควรจับตามองราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน ซึ่ง อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในประเทศต่อไป และหากภาครัฐต้องการตรึงราคาน้ำมันให้เหมาะสม ก็ควรพิจารณาการใช้เงินจาก กองทุนน้ำมันอย่างรอบคอบด้วย เพราะขณะนี้มีอยู่จำนวนจำกัด
นายกลินท์ กล่าวว่า กกร.สนับสนุนสภาวิชาชีพบัญชีในการจัดทำ Application ในการจัดทำบัญชีชุดเดียวให้กับ SME ที่ มียอดขายไม่เกิน 30 ล้านบาท ให้นำไปใช้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ในต้นปีหน้า ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของ SME ได้
พร้อมกันนี้ กกร.สนับสนุนโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เพื่อเป็นมาตรการป้องกันการทุจริตในการ ดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่เริ่มต้นจน เสร็จสิ้นโครงการ อันจะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณและความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของภาค รัฐ และพัฒนากระบวนการป้องกันการทุจริตอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกัน ยังได้มีการสนับสนุนโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้าง ภาครัฐ (Construction Sector Transparency Initiative : CoST) เป็นมาตรการป้องกันการทุจริตในการก่อสร้างภาค รัฐและรัฐวิสาหกิจโดยปัจจุบันมีหน่วยงานเข้าร่วม 147 โครงการและโครงการนำร่องอีก 5 โครงการ (25,822 ล้านบาท) ซึ่ง ปัจจุบันทำให้งบประมาณประหยัดได้สูงถึง 6,185 ล้านบาท คิดเป็น 23.95%
"กกร. เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยยังคงมีความแข็งแกร่ง ส่งผลให้ไทยจะยังคงไม่ได้รับผลกระทบจากต่างประเทศมากนัก และคาดว่าจะสามารถรับมือผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจได้" นายกลินท์กล่าว