นายเจมส์ แมคคอร์แมค หัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตประเทศ ของบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า ฟิทช์คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตในระดับ 3.3% ในปี 61 และ 3.1% ในปี 62 โดยมีแรงหนุนจากการเติบโตในระดับที่สูงกว่าปกติของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว (fiscal expansion) และการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ยังคงแข็งแกร่งแม้ต้องเผชิญกับสงครามทางการค้าอย่างต่อเนื่อง
แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) มีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากภาวะตลาดการเงินโลกที่ตึงตัวมากขึ้นต่อเนื่องจนถึงปีหน้า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในเชิงปริมาณ (qualitative easing) ของธนาคารกลางยุโรปที่จะสิ้นสุดลง และการแข็งค่าต่อเนื่องของเงินเหรียญสหรัฐฯ
ดังนั้น การเคลื่อนย้ายของเงินทุนในตลาดโลกน่าจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่มีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศในระดับสูงและมีกรอบการดำเนินนโยบายที่อ่อนแอกว่า อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยน่าจะสามารถรับมือกับความท้าทายของภาวะเศรษฐกิจโลกดังกล่าวได้ เนื่องจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงและการรักษาฐานะทางการคลังให้อยู่ในระดับที่ดีอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่รุนแรงขึ้นอาจจะส่งผลร้ายต่อระบบเศรษฐกิจที่พึงพิงการค้าระหว่างประเทศ (open economies) ซึ่งรวมถึงเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งนี้ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้ประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 62 ปรับตัวลดลง
ด้านนายพาสันติ์ สิงหะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินของฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่าภาคการธนาคารของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) ส่วนใหญ่น่าจะสามารถรับมือกับการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ได้ ในกรณีที่การปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้นเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีการส่งสัญญาณล่วงหน้าอย่างเหมาะสม
แต่ปัจจัยหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ โดยเฉพาะในประเทศที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินในระดับสูงหรือมีความสามารถในการชำระคืนหนี้ที่ค่อนข้างอ่อนแอ เช่นในประเทศเวียดนาม มองโกเลีย และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงในด้านสภาพคล่อง ในกรณีที่ตลาดเงินตลาดทุนเกิดภาวะชะงักงันจากความวิตกกังวลในตลาด (stressed scenario)
อย่างไรก็ตาม ภาคการธนาคารของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยส่วนใหญ่ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้นของสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานและกฎเกณฑ์การกำกับดูแล โดยเฉพาะภาคการธนาคารของไทยนั้น น่าจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวได้เนื่องจากไม่ได้มีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ และภาคการธนาคารไทยยังมีกันชนที่เข้มแข็งในด้านเงินกองทุนและสภาพคล่อง