นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการสนับสนุนโชห่วยชุมชน ระหว่างกระทรวงพาณิชย์, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี), บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด, ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่า ในระยะแรกจะเริ่มนำร่องใน 3 จังหวัด คือ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี กำหนดเป้าหมายร้านโชห่วยเข้าร่วมโครงการอย่างน้อย 750 ร้านภายในเดือนม.ค.62 โดยตั้งเป้าหมายให้แต่ละร้านมีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% และจะขยายให้ครอบคลุมร้านโชห่วยในทุกจังหวัดให้ได้ประมาณ 40,000 ร้านภายใน 3 ปี
รัฐบาลได้จัดทำโครงการนี้เพื่อช่วยเหลือร้านโชห่วยชุมชนให้มีช่องทางซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากผู้ผลิตโดยตรง โดยการสั่งซื้อผ่านแอพพลิเคชั่น หรือแพลตฟอร์ม (เว็บไซต์) ที่ดีอีอยู่ระหว่างการจัดทำ เพื่อลดต้นทุน ทำให้ได้สินค้าราคาถูกมาจำหน่ายให้กับประชาชน ซึ่งจะจูงใจให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้าในร้านโชห่วยมากขึ้น และทำให้ร้านโชห่วยมีรายได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสินค้าชุมชน นำสินค้าไปจำหน่ายผ่านแอพฯ หรือแพลตฟอร์มดังกล่าว เพื่อให้ร้านโชห่วยเข้ามาเลือกซื้อสินค้าไปจำหน่ายได้ด้วย ซึ่งจะช่วยให้สินค้าชุมชนมีช่องทางการจำหน่ายเพิ่มขึ้น และช่วยให้ร้านโชห่วยมีสินค้าที่จำหน่ายในร้านหลากหลายขึ้น
ด้านนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะมีไปรษณีย์ไทยเป็นผู้บริหารจัดการ โดยร้านโชห่วยจะสั่งซื้อสินค้าผ่านแอพฯ หรือแพลตฟอร์ม จากนั้นไปรษณีย์จะรวบรวมคำสั่งซื้อส่งไปยังผู้ผลิตสินค้า (ซัพพลายเออร์) เพื่อให้จัดส่งสินค้ามายังคลังของไปรษณีย์ จากนั้นไปรษณีย์จะจัดส่งสินค้าไปยังร้านโชห่วยทั่วประเทศตามคำสั่งซื้อ โดยกระทรวงพาณิชย์จะประสานซัพพลายเออร์ให้ผลิตสินค้าป้อนโครงการในราคาถูก ทำให้ต้นทุนของร้านโชห่วยลดลง และขายสินค้าได้ในราคาถูกลง เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค คาดว่า จะเริ่มดำเนินโครงการได้เร็วๆ นี้
นอกจากนี้ ผู้ผลิตสินค้าชุมชน สินค้าท้องถิ่น ยังจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ด้วย เพราะเมื่อร้านโชห่วยซื้อสินค้าตามโครงการนี้แล้ว จะมีการสะสมแต้มหรือมีพอยต์ให้ ซึ่งกำหนดให้ต้องนำพอยต์ที่ได้ไปซื้อได้เฉพาะสินค้าชุมชน สินค้าท้องถิ่นเท่านั้น จะนำไปซื้อสินค้าอื่นไม่ได้ ทำให้สินค้าชุมชน สินค้าท้องถิ่นมีช่องทางขายสินค้าได้มากขึ้น