สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และกลุ่มรีเทลในนามบริษัทร่วมทุน "แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด" เตรียมยื่นอุทธรณ์กรมสรรพากรต่อผลการคัดเลือกให้บริษัท บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด เป็นตัวแทนในโครงการทดลองคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยวในเมืองเพียงรายเดียว โดยให้บริการ 3 จุด คือ สาขาลิโด้, สาขาแบงค์ค๊อกไนท์บาร์ซาร์ และสาขา ผดุงด้าว (เยาวราช) เทียบกับ 5 โลเกชั่น ได้แก่ ห้างเซน ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, ห้างเซ็นทรัล ชิดลม, ดิเอ็มโพเรียม, โรบินสัน สุขุมวิท และสยามพารากอนที่ตกรอบ ทั้ง ๆ มองว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์แหล่งช้อปปิ้งกลางเมืองที่มีนักท่องเที่ยวหนาแน่นมากที่สุด เพื่อเป้าหมายความสำเร็จของโครงการคืนแวตรีฟันด์ในเมืองที่แท้จริง
นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า จากผลการคัดเลือกของกรมสรรพากรให้ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด เป็นตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยวนั้นส่งผลให้บริษัทร่วมทุนที่จดทะเบียนในนาม แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด พลาดโอกาสในการสนับสนุนภาครัฐอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆ ที่มีการเตรียมความพร้อมร่วมกันกับกรมสรรพากรมาเกือบปี และรับทราบแต่แรกแล้วถึงเหตุผลว่าทำไมจึงเป็น 5 จุด เพื่อตอบโจทย์ในการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวและเพื่อผลสัมฤทธิ์ของโครงการฯ อีกทั้งยังมีการประชุมพิจารณาระบบซอร์ฟแวร์และขั้นตอนการดำเนินการ รวมทั้งมีการเดินสำรวจจุดคืนแวตทั้ง 5 จุดร่วมกัน ซึ่งทางกรมสรรพากรทราบดีว่าทั้ง 5 จุดมีความพร้อมในการดำเนินงานที่สมบูรณ์ แต่ผลการอนุมัติตัวแทนคืนแวตรีฟันด์กลับเหลือแค่ผู้ประกอบการรายเดียว และมีจุดคืนแวต 3 จุด
ทางสมาคมฯ และบริษัทร่วมทุนฯ ชี้แจงว่า ทั้ง 5 แห่งเป็น จุดยุทธศาสตร์แหล่งช้อปปิ้งที่มีทัวร์ริสต์มากที่สุดในประเทศที่มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยว ไม่มีประเทศใดที่ตั้งจุดคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยว ในร้านค้าขนาดเล็ก ทุกประเทศล้วนแล้วแต่กำหนดจุดคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม แก่นักท่องเที่ยว ไว้ในห้างสรรพสินค้า หรือในศูนย์การค้าทั้งนั้น
"ห้าจุดยุทธศาสตร์แหล่งช้อปปิ้งเป็นคำตอบที่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่กรมสรรพากรกำหนดไว้เพราะเป็นแหล่งที่มีร้านค้าจดทะเบียน Vat Refund for Tourists มากที่สุด จึงช่วยลดความแออัดให้กับนักท่องเที่ยวในสนามบิน ได้เป็นอย่างดี ซึ่งร้านค้าขนาดเล็กอาจไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร" นายวรวุฒิ กล่าว
นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า ทางสมาคมฯเตรียมการยื่นอุทธรณ์ แต่คงต้องหลังจากได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการจากกรมสรรพากรก่อน เบื้องต้นเงื่อนไขอื่นๆ เราผ่านหมด แต่สงสัยว่าทำไมต้องมีแค่ 3 จุด หากทำเลเป็นย่านที่มีนักท่องเที่ยวหนาแน่น ก็จะได้ผลทดลองได้ดีมากกว่า เราไม่ได้ complain ว่าร้านสะดวกซื้อไม่ดี แต่แค่คิดว่าการสุ่มตัวอย่างของทำเลดังกล่าวไม่ค่อยเหมาะสม ถ้าจะมีการยื่นอุทธรณ์ก็คงยืนยัน 5 ทำเลเหมือนเดิม คงต้องวอนภาครัฐให้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง
สำหรับห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าใน 5 จุด ได้รับอนุญาตให้ออกใบกำกับภาษีแก่นักท่องเที่ยว (ภ.พ.10) ตามที่กรมสรรพากรกำหนด และมีระบบในการออกใบ ภ.พ.10 อยู่แล้ว จึงสามารถออกใบ ภ.พ 10 ได้ดีกว่า ร้านค้าขนาดเล็กที่ไม่ได้เข้าอยู่ในระบบการออกใบกำกับภาษีแก่นักท่องเที่ยว โดยข้อจำกัดของพื้นที่ร้านค้าขนาดเล็กให้บริการที่ไม่สามารถรองรับคนได้จำนวนมาก ซึ่งอาจสร้างความไม่สะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่อาจต้องต่อคิวรอเป็นเวลานาน
พร้อมกันนี้ การขายสินค้าและบริการของห้างสรรพสินค้า มีขั้นตอนและกระบวนการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวอย่างครบวงจร จนถึงการออกใบภ.พ.10 แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวยื่นแบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยว มากกว่า 900,000 ใบต่อปีในบริเวณ 5 จุดดังกล่าว คิดเป็น 60% ของปริมาณการขอใบ ภ.พ.10 ทั่วประเทศ คิดเป็นยอดการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวประมาณ 38,000 ล้านบาท เมื่อนักท่องเที่ยวได้รับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในสกุลเงินบาทก็จะจับจ่ายใช้สอยต่อเนื่อง คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจกว่า 4,000 ล้านบาทในช่วงการทดลอง 6 เดือน
"เรายืนยันว่าทั้ง 5 จุดมีความพร้อมและเหมาะที่จะทำ Vat Refund for Tourists เพราะอยู่ในแนวรถไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็ยังมีร้านค้าอีกร้อยๆรายได้รับอานิสสงส์จากโครงการนี้ด้วย ถ้าพลาดไปเท่ากับร้านค้าเหล่านี้ก็ถูกตัดสิทธิ์เสียโอกาสไปด้วย จึงอยากขอให้ทางกรมสรรพากรพิจารณาใหม่ นึกถึงประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ...การให้นักท่องเที่ยวช็อปปิ้งในศูนย์การค้าแล้วหอบถุงช็อปปิ้งไปหาสถานที่เคลม Vat ไม่น่าจะสะดวกด้วยประการทั้งปวงและไม่มีประเทศไไหนในโลกทำ
นอกจากนี้ร้านสะดวกซื้อจะขายอาหาร สินค้าอุปกรณ์บริโภค มูลค่าการจับจ่ายจะอยู่ที่เฉลี่ย 100 บาท แต่การจะออก Vat Refund for Tourists ต้องมียอดการจับจ่าย 2,000 บาทขึ้นไปจึงจะออก ภ.พ.10ได้ ทำให้เราสงสัยว่าทำไมสรรพากรจึงเลือกโลเกชั่นเหล่านั้น
โครงการทดลอง Vat Refund for Tourists ที่ตั้งใจให้มีระยะ 6 เดือน เริ่ม 1 ต.ค.61 – 31 มี.ค.62 ถ้าผลออกมาไม่น่าประทับใจ เพราะเลือกตัวอย่างทดลองผิดตั้งแต่แรกจะสามารถยอมรับได้หรือไม่
นายวรวุฒิ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติและภาพรวมการค้าปลีก ไม่ใช่ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง ค่อนข้างเสียดายโอกาสของผู้ประกอบการที่อยู่ในศูนย์การค้า แทนที่จะมียอดขายเพิ่มจากนักท่องเที่ยว เพราะหลังจากเคลมภาษีแล้วเชื่อว่าจะมีการใช้เงินต่อในบริเวณใกล้เคียง
"เราไม่ได้ติดใจว่าร้านสะดวกซื้อจะทำ Vat Refund for Tourists เพราะจริงๆ การทำเรื่องนี้ยิ่งมากจุดยิ่งดี แต่แปลกใจว่าทำไมไม่เลือกศูนย์การค้าในการทำ และการมีมากจุดไม่ได้เป็นผลเสียใดๆทั้งสิ้น เพราะเอกชนเป็นผู้ลงทุนเอง ภาครัฐไม่ได้เสียประโยชน์ใดๆเลย และการทดลองโครงการ Vat Refund for Tourists ถ้ามีตัวอย่างมากจุดและสามารถประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวได้ตลอดแนวรถไฟฟ้าน่าจะทำให้โครงการนี้ชัดเจนว่าได้ผลหรือไม่ เพราะถ้าทดลองทำในศูนย์การค้าขนาดใหญ่แล้ว การเดินทางคมนาคมสะดวกแล้ว แต่นักท่องเที่ยวไม่มาเคลม Vat ก็จะเห็นชัดเจนว่าโครงการแบบนี้ไม่มีประโยชน์ไม่ได้ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย"