นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้วาการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยตั้งแต่สิ้นปี 60- 2 ต.ค.61 บาทแข็งค่าขึ้น 0.6% เมื่อเทียบดอลลาร์ แต่แข็งค่าขึ้น 5% เมื่อเทียบกับค่าเงินประเทศคู่แข่ง และยังไม่เห็นสัญญาณการเก็งกำไรที่ผิดปกติช่วงนี้
"เราเป็นประเทศเล็กๆ และ small open คงไปทำอะไรที่ฝืนตลาดไม่ได้ แต่เมื่อใดที่เราเห็นความผิดปกติ เราจะเข้าไปดูแล แต่ตอนนี้ไม่เห็นสัญญาณหรือมีการเก็งกำไรที่ผิดปกติแต่อย่างใด" นายจาตุรงค์ กล่าว
พร้อมระบุว่า กรณีเงินบาทแข็งค่าไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย เนื่องจากปัจจัยสำคัญอยู่ที่การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามากกว่า ทั้งนี้เงินบาทที่แข็งค่ายังไม่มีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง แต่ในทางกลับกันได้ช่วยลดผลกระทบจากการนำเข้าน้ำมันที่มีราคาแพงขึ้นได้
นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ในรายงานนโยบายการเงินได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามแรงส่งจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ โดยคาดว่าในปี 61 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4.4% และปี 62 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.2% ทั้งนี้ ประมาณการเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำ และมีความไม่แน่นอนจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังต้องติดตาม
"คาดว่าในปี 61-62 ผลกระทบจากสงครามการค้าอาจจะยังไม่มาก แต่น่าจะเห็นชัดเจนมากขึ้นในปี 63 หากประเทศใหญ่ๆ เจรจากันไม่ลงตัว ซึ่งผลน่าจะรุนแรงมากกว่า" นายจาตุรงค์ ระบุ
สำหรับ 3 ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาในการดำเนินนโยบายการเงิน ประกอบด้วย 1.การเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามแรงส่งจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องตามรายได้และการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้นในเกือบทุกสาขา การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้เดิม จากข้อจำกัดด้านการเบิกจ่าย รวมถึงการทบทวนและปรับรูปแบบโครงการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวยังคงขยายตัว แต่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงบ้าง จากผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
2.เสถียรภาพราคา โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นใกล้เคียงที่ประเมินไว้เดิม แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำจากราคาอาหารสดที่ผันผวนสูงตามสภาพอากาศและปริมาณผลผลิต ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอาจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้เต็มศักยภาพ
3. เสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงจากความเปราะบางในระบบการเงินในอนาคต โดยเฉพาะภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ที่ส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดลง พฤติกรรม Search for yield ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน และ SMEs ที่ยังไม่ปรับดีขึ้นชัดเจน
ทั้งนี้ กนง.เห็นว่าเสถียรภาพระบบการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังมีความเสี่ยงบางจุดที่ต้องติดตาม เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ และภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่มีความเปราะบางมากขึ้นจากการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยโดยสถาบันการเงินยอมรับความเสี่ยงสูงขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนจำนวนบัญชีที่มีอัตราส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ (LTV) เกิน 90% เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เป็นหน้าที่ที่แต่ละสถาบันการเงินจะต้องดำรงเงินกองทุนให้เพิ่มสูงขึ้น หากพบว่า LTV ปรับสูงขึ้น
"ระยะหลังมานี้ จะเห็นได้ว่าธนาคารปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้นเมื่อเทียบกับระดับราคาบ้านสิ่งที่ กนง.กังวลและเห็นสัญญาณ คือ รายได้ของผู้กู้ที่ลดลง เนื่องจากสถาบันการเงินมีการขยายฐานผู้กู้ลงไปในระดับที่มีรายได้น้อยลงจากเดิม อีกทั้งขยายระยะเวลาการผ่อนชำระนานขึ้น ...นอกจากนี้ NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ก็เห็นทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้น โดยล่าสุดในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 3.4%" นายจาตุรงค์ กล่าว
ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน โดยเฉพาะในหมวดที่อยู่อาศัยยังคงด้อยลง แต่หมวดอื่นๆ ปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนี้ครัวเรือนถือว่ายังอยู่ในระดับสูง แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) จะปรับลดลงบ้าง ซึ่งการที่หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ฉุดรั้งการบริโภคโดยรวม