บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ประกาศในปี 63 ก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งตลาดอาเซียน จากการเติบโตธุรกิจในกลุ่มที่กระจายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในเมียนมา และ เวียดนาม ที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงสุด จากภาวะเศรษฐกิจเติบโตมากกว่าไทยเท่าตัว ขณะเดียวกันตั้งเป้าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจในอาเซียนจะมีสัดส่วนเพิ่มมาเป็น 50% จากปัจจุบันอยุ่ที่ 36% ขณะที่ตั้งงบลงทุนในช่วงปี 62-63 ปีละ 5 พันล้านบาทเป็นงบปกติ และคาดว่าจะไม่มีการเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่ โดยจากนี้ไปจะเร่งสร้างรายได้และกระแสเงินสดจากธุรกิจที่ซื้อเข้ามา และเร่งใช้คืนเงินกู้เดิมราว 2 แสนล้านบาทก่อน
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ กล่าวว่า ธุรกิจเบียร์จะเป็นธุรกิจเติบโตมาก โดยเฉพาะในเวียดนาม และเมียนมา ซึ่งทั้งสองประเทศมีตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ย 7%ขณะที่เศรษฐกิจไทยโต 4.3-4.5%ในปีนี้
ทั้งนี้ ในเมียนมาบริษัทได้ลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเบียร์ ขนาดกำลังการผลิต 50 ล้านลิตร/ปี ด้วยเงินลงทุน 56 ล้านหรียญ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.62 และเริ่มผลิตและขายในเดือนต.ค.62 หลังจากเข้าซื้อกิจการกิจการ Grand Royal Whisky สุราอันดับหนึ่งในเมียนมา ด้วยงบลงทุน 730 ล้านเหรียญ
ส่วนในเวียดนาม บริษัทใช้โรงงานเดิมหลังจากเข้าซื้อกิจการ บริษัท ไซง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น หรือ ซาเบโก้ (Sabeco) ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งในตลาดเบียร์ของเวียดนาม ด้วยสัดส่วนถือหุ้น 53.59% มูลค่า 4.7 พันล้านเหรียญ
ปัจจุบัน กลุ่มไทยเบฟฯ มีส่วนแบ่งตลาดเบียร์ 23-24% ในตลาดอาเซียนที่มีมุลค่าตลาดรวมราว 1.1 หมื่นล้านเหรียญ โดยมีแบรนด์หลักๆ ได้แก่ เบียร์ช้าง ซาเบโก เป็นต้น เป็นแบรนด์ที่ผลักดันยอดขายเป็นหลัก โดยตลาดเบียร์ในเวียดนาม มียอดขาย 3 หมื่นล้านลติร ส่วนในเมียนมา มียอดขาย 400 ล้านลิตร
นายฐาปน กล่าวว่า ภายในปี 63 (ปี ค.ศ.2020) ตั้งเป้ารายได้หรือยอดขายในอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็น 50% ส่วนตลาดในไทย 50% จากปัจจุบันตลาดอาเซียนมีสัดส่วน 36% ซึ่งเป็นไปตามที่บริษัทคาดหวัง ส่วนตลาดในไทยมีสัดส่วน 60% และตลาดต่างประเทศที่นอกเหนืออาเซียน 4%
"ภาพรรวมธุรกิจไทยเบฟมองตลาดอาเซียนเป็นหลัก โดยเฉพาะ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียมมาและเวียดนาม)ที่มีประเทศไทยอยู่ใจกลาง เพราะเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนเติบโตดีมาก เป็น Growth Market เป็นโอกาสของธุรกิจ โดยเฉพาะตลาดเวียดนามและเมียนมา เป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตมาก เศรษฐกิจเขาเติบโตกว่าไทย แล้วเราก็เข้าไปถูกเวลา"
ทั้งนี้ กลุ่ม CLMV และไทย รวมประชากรราว 300 ล้านคน ส่วนตลาดอาเซียนมีประชากร 600 กว่าล้านคน และในปี 73 (ปี ค.ศ. 2030) คาดว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจที่เติบโตเป็นอันดับ 4 ของโลก
นายฐาปน กล่าวว่า จากนี้ไปจะไม่มีการลงทุนการซื้อกิจการขนาดใหญ่ อาจจะมีซื้อกิจการขนาดกลางหรือเล็กบ้าง และจะระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น โดยตั้งงบลงทุนปี 62-63 ปีละ 5 พันล้านบาทเป็นงบปกติ ขณะที่จะเร่งสร้างรายได้และเพิ่มกระแสเงินสดหลังจากที่ได้ซื้อกิจการมาในช่วงที่ผ่านมา
พร้อมกันนั้น กล่มไทยเบฟ จะเร่งใช้คืนเงินกู้เดิมที่มีราว 2 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน (Net debt/Equity) ที่ 1.56 เท่า โดยในปี 61 ได้ออกหุ้นกู้มา 2 ครั้งแล้วเพื่อปรับอายุหนี้เป็นระยะยาวมากขึ้น โดยรอบแรกในเดือน มี.ค.ออกหุ้นกู้วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท อายุเฉลี่ย 6 ปี และรอบสองเมื่อในเดือน ก.ย.ออกหุ้นกู้วงเงิน 7.7 หมื่นล้านบาท อายุเฉลี่ย 5 ปี
ในช่วง 9 เดือนปี 61 ธุรกิจหลักของไทยเบฟฯ ในไทย คงอยู่ในธุรกิจเหล้า สัดส่วน 47.4% ธุรกิจเบียร์ สัดส่วน 40.1% ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีสัดส่วน 7.2% และ ธุรกิจอาหาร 5.4%
"ผมเชื่อมั่นว่าในเปีหน้าที่จะถีงนี้ ไทยเบฟมีความพร้อมที่จะทุ่มเทศักยภาพที่มีอยุ่ในทุกด้าน ในการสร้างความเติบโตอย่างต่อเนื่องจากเครือข่ายธุรกิจในอาเซียนของไทยเบฟ"นายฐาปน กล่าว
ทั้งนี้ นายฐาปน กล่าวว่า ได้ปรับโครงสร้างองค์กร โดยตนเองจะเข้ารมาดูแลกลุ่มธุรกิจเบียร์เพิ่มด้วยในตำแหน่งผู่บริหารสูงสุดในกลุ่มธุรกิจเบียร์
ด้านนายเอ็ดมอนต์ เนียว คิมซูน รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผุ้บริหารสูงสุด กลุ่มบริหารการลงทุนตราสินค้า ดูแลกลุ่มธุรกิจเบียร์ กล่าวว่า เป้าหมายในปี 63 ธุรกิจเบียร์ในกลุ่มไทบเบฟจะขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน หลังจากซื้อกิจการ ซาเบโก้ในเวียดนามทำให้ สัดส่วนรายได้ธุรกิจเบียร์ของกลุ่มไทยเบฟเพิ่มขึ้นเป็น 30% จาก 17%
ทั้งนี้ ธุรกิจเบียร์ของไทยเบฟขยายตัวได้รวดเร็วมากจากการเปิดตัว แทปเปอร์ (Tapper) เบียร์แอลกอฮอล์สูง และกำลังเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่คือ เฟเดอร์บรอย ไวส์เบียร์ (Federbrau Weissbier) พรีเมี่ยมสไตล์เยอรมัน
ขณะที่มองว่าตลาดเบียร์ในเมียนมามีโอกาสเติบโตสูง เพราะมีการบริโภคต่อหัวต่ำ มีเพียง 7.5 ลิตร/ปี ขณะที่ไทยมีอัตราการบริโภคเฉลี่ย 26 ลิตร/ปี อย่างไรก็ตาม ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ยอดขายในด้านปริมาณติดลบ 8-9% แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะดีแต่ดีเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยวและส่งออก แต่กลุ่มหลักเกษตรกรไม่มีกำลังซื้อเนื่องจากราคาเกษตรปรับตัวลดลง
ด้านนายประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสุงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา และผุ้บริหารสุงสุด กลุ่มบริหารช่องทางการจำหน่าย กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาธุรกิจสุราในประเทศไทยถือว่าทำได้ดีเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน และยังสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดได้ดี ขณะที่บริษัทได้พัฒนาสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดสุราพร้อมดื่ม สำหรับผู้บริโภคกลุ่มใหม่ เช่น สตาร์ คุลเลอร์ และ คูลอฟ แมกซ์ เซเว่น
นอกจากนี้ได้มีการส่งออกสุรารวงข้าวซิลเวอร์ ซึ่งเป็นเหล้าขาวพรีเมียม เป็นสินค้าใหม่ส่งออกไปยังประเทศเวียดนามและเกาหลีใต้ ถือเป็นการสุรายี่ห้อแรกของไทยเข้าสุ่ตลาดต่างประเทศ
ทั้งนี้ บริษัทได้เข้าลงทุน 75% ในกลุ่ม ในเมียนมา ซึ่งเป็นผุ้ผลิตและจัดจำหน่ายสุรา Grand Royal Whisky ที่ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งในเมียนมา และล่าสุดบริษัทได้เข้าร่วมลงทุน 51% ในกลุ่ม Asiaeuro International Beverage ซึ่งเป็นบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าเครื่องดื่มต่างๆ โดยเฉพาะสุราพรีเมียมจากประเทศสก๊อดแลนด์ และฝรั่งเศส ด้วย
ส่วนนายลี เม็ง ตัท ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกฮอล์ และกรรมการผู้อำนวยการ ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ในกลุ่มไทยเบฟได้ตั้งเป้าจะมีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์มากกว่า 50% โดยในปีนี้สัดส่วนลดลงมาอยู่ที่ 37% หลังจากซื้อกิจการซาเบโก้ และ Grand Royal Group จากก่อนหน้ามีสัดส่วน 47% อย่างไรก็ตาม มองเป้าหมายใน 2 ปีนี้ จะเข้าซื้อกิจการเพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปรับเพิ่มขึ้นมาให้ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งขณะนี้กำลังมองหาอยู่เป็นกิจการในกลุ่มอาเซียน
นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผุ้อำนวยการใหญ่ และผุ้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหารประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีนี้ (ปี 62-63) จะขยายสาขาเพิ่มปีละ 50 สาขา และใช้งบลงทุน 400-500 ล้านบาท/ปี จากปัจจุบันมี 562 สาขา จากร้านอาหาร 27 แบรนด์ และยังไม่มีแผนซื้อแบรนด์ร้านอาหารเพิ่มเติม แต่จะเติบโตจากแบรนด์ร้านอาหารที่มีอยู่