สรท.คงเป้าส่งออกเติบโตทั้งปี 9% หลัง 8 เดือนโต 10% เสนอภาครัฐดูแลเงินบาทให้มีเสถียรภาพ-เร่งเปิดตลาดใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 4, 2018 11:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ยังคงคาดการณ์ทิศทางการส่งออกไทยทั้งปีเติบโต 9% บนสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.0 (บวก/ลบ 0.5) บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 3 ต.ค. 61 – 33.349 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ)

สำหรับภาพรวมช่วงเดือนม.ค.- ส.ค. 61 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 169,030 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 10.0% (YoY) คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 5,381,110 ล้านบาท ขยายตัว 1.9% (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 166,679 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 15.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) หรือคิดเป็นมูลค่า 5,379,050 ล้านบาท ขยายตัว 7.5% (YoY) ส่งผลให้ ช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. 2561 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 2,351 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 2,061 ล้านบาท

โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ ประกอบไปด้วย 1) ตลาดศักยภาพขยายตัวอย่างมากในแถบเอเชีย อาเซียน อินเดีย รวมถึงตลาดศักยภาพตลาดรองอย่าง รัสเซียและ กลุ่ม CIS (12) 2) การขาดดุลการค้าในเดือนสิงหาคม กว่าห้าร้อยล้านเหรียญสหรัฐ เกิดจากการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญาณการลงทุนของภาคการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย 3) ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออกในไตรมาส 4 อยู่ที่ระดับ 64.8 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้ส่งออกไทย 4) ผลกระทบเชิงบวกจากสถานการณ์สงครามการค้าและการปรับขึ้นภาษีรอบที่สามของสหรัฐ พบว่ามีรายการที่ส่งผลดีต่อสินค้าไทยในการส่งออกสินค้าทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ เช่น สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ข้าว ยางพาราขึ้นรูป ผักและผลไม้ อาหารทะเล เป็นต้น 5) กลุ่มประเทศอาเซียน อาจได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทระดับ Global Supply Chain ไม่ว่าจะเป็น ไทย เวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราสูงและเป็นตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ ดึงดูดนักลงทุนต่างที่อาจได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้า

ขณะที่ ความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญประกอบด้วย 1) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากการไหลกลับเข้ามาของเงินทุนต่างประเทศในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) หลายประเทศเริ่มมีทิศทางแข็งค่าเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่า FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.75-2 แต่ผลจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทำให้เม็ดเงินยังคงต้องการ Save Haven ใน EM market 2) ความยืดเยื้อของสงครามการค้าที่อาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อภาคการส่งออก และห่วงโซ่อุปทานได้ โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมายการค้ามาตรา 201 และ 232 ที่ส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกเครื่องซักผ้า แผงโซลาเซลล์ เหล็กของไทยมาแล้วก่อนหน้า รวมถึงในกลุ่มสินค้าส่วนประกอบรถยนต์ที่อาจมีแนวโน้มการเติบโตที่ลดลงเนื่องจากผู้ผลิตชิ้นส่วนในสหรัฐเริ่มกับมาผลิตชิ้นส่วนในประเทศมากขึ้น รวมถึงทิศทางการย้ายฐานการผลิตที่มีทิศทางการลงทุนไปยังประเทศเวียดนามและอินเดีย เป็นหลัก

3) ปัญหามาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ ทำให้ทิศทางราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 3 แตะระดับ 75 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งสินค้าปรับสูงขึ้น กระทบต่อความสามารถในการบริโภคของอุปสงค์ภายในประเทศและผลกำไรของผู้ประกอบการในทางอ้อม 4) ราคาสินค้าเกษตรและประมงบางรายการ ที่ยังคงเผชิญสภาวะตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา (อุปทานล้นตลาด) กุ้งและน้ำตาล (จากการขาดแคลนวัตถุดิบ) มะพร้าว (ราคาตกต่ำจากอุปทานในตลาดที่เพิ่มขึ้น) และ 5) ปัญหาด้านโลจิสติกส์ อาทิ ปัญหาความแออัดภายในท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนโลจิสติกส์และกฎระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวยความสะดวกในการส่งออก

ในส่วนข้อเสนอแนะที่สำคัญของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย 1) ภาครัฐต้องกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ให้ไม่แข็งค่าสูงกว่าคู่ค้าและคู่แข่งสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่ม Emerging Market รวมถึงไทย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อกลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศสูง ในขณะที่ ผู้ประกอบการส่งออก SMEs ควรพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อประกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนจากปัจจัยของการแข็งค่าของเงินบาทและมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่าง เช่น การชำระค่าสินค้าด้วยเงินสกุลท้องถิ่น (Local Currencies) การเปิดบัญชี Foreign Currencies Deposit: FCD เพื่อลดบทบาทเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ 2) ภาครัฐควรติดตามมาตรการกีดกันทางการค้า (NTM/NTB) อันอาจจะเกิดจากผลกระทบของสงครามทางการค้า อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งหารือผู้ประกอบการและกำหนดมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องกระจายความเสี่ยง รวมถึงเร่งเปิดตลาดคู่ค้าใหม่เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงโครงสร้างต้นทุนสินค้าและวัตถุดิบในช่วงที่ค่าเงินมีความผันผวนและการตอบโต้ของมหาอำนาจทางการค้า (Trade war)

3) กระทรวงพาณิชย์ ต้องปรับปรุงเงื่อนไขในกรอบการค้าเสรีที่มีผลบังคับใช้แล้ว FTA/GSP เพื่อให้ผู้ประกอบการของไทยใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เร่งรัดกรอบที่อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อให้ไทยได้มีข้อได้เปรียบทางการค้าเหนือคู่แข่งที่สำคัญ 4) การค้าระหว่างประเทศ เกี่ยวพันกับกฎหมายหลายฉบับทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนเป็นอย่างมาก ดังนั้น รัฐบาลจึงควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในการกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนปฏิบัติที่สอดคล้องกับการดำเนินงานของภาคธุรกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการไทย

5) เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์โดยเฉพาะความเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือและการขนส่งระบบรางและทางน้ำภายในประเทศให้เป็นแกนหลักในการขนส่งสินค้าเพื่อการส่งออก อาทิ เร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพการยกขนตู้สินค้าภายในท่าเรือแหลมฉบังและเชื่อมต่อการขนส่งระบบรางและ ICD นอกท่าเรือเพื่อลดแถวคอยของรถบรรทุกภายในท่าเรือ การส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมการซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ภายในประเทศ เพื่อเพิ่มปริมาณและยกระดับตู้สินค้าเพื่อการส่งออกให้เพียงพอและคุณภาพตรงต่อความต้องการ ควบคู่ไปกับ การแก้ไข และปรับปรุงประกาศและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศในส่วนของต้นทุนภายในประเทศ เป็นบริการควบคุมภายใต้ พระราชบัญญัติราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ