ธนาคารโลก ระบุในรายงาน East Asia and Pacific Economic Update คาดว่า เศรษฐกิจของไทยในปี 61 จะขยายตัว 4.5% สูงขึ้นจากปีก่อน ก่อนที่จะเติบโตชะลอลงมาอยู่ที่ 3.9% ในปี 62-63
"เวิลด์แบงก์ได้ปรับประมาณการตัวเลขจีดีพีของไทยในปีนี้จาก 4.1% ที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายน ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.5% หลังดูความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ความยากง่ายในการทำธุรกิจ การลงทุนภาครัฐ การปฏิรูประบบราชการ การออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าตัวเลขมีความโดดเด่นในภูมิภาค" นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย กล่าว โดยภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้ยังคงเป็นบวก แม้ปัจจัยแวดล้อมภายนอกจะไม่เอื้อต่อการเติบโต โดยธนาคารโลกคาดว่าในปี 61 เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาจะเติบโตได้ที่ 6.3% โดยมองว่านโยบายกีดกันและความผันผวนของตลาดเงินจะส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลาง อีกทั้งจะส่งผลลบต่อกลุ่มคนยากจนที่สุดและกลุ่มเปราะบาง ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายควรใช้ความระมัดระวัง เตรียมความพร้อมและสร้างความยืดหยุ่นไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ประเทศสามารถรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจได้
ทั้งนี้ ในปี 61 สถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคยังไม่มีอะไรไม่ดี แต่ในระยะต่อไปอาจมีปัญหาเรื่องแนวโน้มการเติบโตที่ลดลงได้ จากผลกระทบเรื่องสถานการณ์การค้าโลกที่อาจชะลอตัวลง ซึ่งจะมีผลที่รุนแรงขึ้นในปี 2562 โดยหากผลกระทบมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีความเสี่ยงจากปัจจัยลบภายนอกมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อภาพรวมการส่งออกของภูมิภาค จากปริมาณการค้าที่ลดลง รวมถึงความไม่แน่นอนดังกล่าวจะทำให้เกิดปัญหาในการลงทุนในเขตเศรษฐกิจของแต่ละประเทศด้วย ซึ่งท้ายที่สุดอาจจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจภูมิภาคต่อไปดังนั้นผู้กำหนดนโยบายต้องกำหนดวิธีการแก้ปัญหา
นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า ธนาคารโลกยังปรับขึ้นประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 62-63 จาก 3.8% เป็น 3.9%
"การที่การเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากในปีนี้มีการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศ การเร่งรัดลงทุนภาครัฐที่ล่าช้าก่อนหน้านี้ แต่ในปีถัดไปจะเป็นการลงทุนตามแผนงานปกติ ประกอบกับการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวลงด้วย"
นอกจากนี้ รายงานยังระบุอีกว่า แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่จะมีเสถียรภาพลดลง เนื่องจากปัจจัยร่วมหลายประการ ได้แก่ ความตึงเครียดทางการค้า สหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า และความผันผวนจากตลาดการเงิน ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อในประเทศต่างๆ ก็เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
"แต่ละประเทศควรหาวิถีทางในการลดผลกระทบที่เกิดจากนโยบายกีดกันทางการค้าที่เกิดนอกภูมิภาค รวมทั้งหาโอกาสในการบูรณการตัวเอง ไปจนถึงการร่วมมือกันระหว่างภูมิภาคเพื่อหามาตรการรับมือ ทั้งในแง่ของกฎ และระเบียบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน" รายงาน ระบุ
นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจของไทยมีความผันผวนน้อยสุด เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี ทั้งตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัด สถานะทางการคลังที่มั่นคง ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงมาก นโยบายการเงินและการคลังที่จะนำมาใช้ดูแลภาวะเศรษฐกิจยังมีช่องทางให้เลือกอีกมาก
"ภาวะเศรษฐกิจของไทยยังมีความยืดหยุ่นมากกว่าประเทศอื่น เพราะมีปัจจัยพื้นฐานดี" นายเกียรติพงศ์ กล่าว
หากพิจารณาถึงชั้นความยากจนของประชากรแล้ว ประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยมีสัดส่วนต่อจีดีพีลดลงมาเป็นลำดับ จาก 7.1% ในปี 2558 มาอยู่ที่ 6.5% ในปี 2559, 5.6% ในปี 2560 โดยคาดว่าจะทยอยลดลงมาอยู่ที่ 4.8% ในปี 2561, 4.2% ในปี 2562 และ 3.6% ในปี 2563
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีฐานภาษีค่อนข้างน้อย ซึ่งต้องเร่งขยายให้ครอบคลุมมากขึ้นเพื่อให้เกิดรายได้นำมาพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกันตัวเลขการออมก็อยู่ในระดับต่ำจึงต้องเร่งดำเนินการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือปัญหาคอขวดที่เกิดจากการออกกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ที่มีข้อจำกัดเรื่องป้องกันทุจริตมากเกินไปจนทำให้หน่วยงานไม่สามารถดำเนินการเปิดประมูลได้ ส่วนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ถึงแม้จะออกมาเป็นกฎหมายแล้วแต่อาจมีข้อจำกัดที่มีโครงสร้างเป็นหน่วยงานราชการทำให้ไม่มีความคล่องตัว
สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นั้น ที่ผ่านมาเป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด โดยประเทศที่ใช้นโยบายการเงินแบบยืดหยุ่นไม่ควรต่อต้านเรื่องนี้ และควรหาวิธีในการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของประเทศตัวเองให้มากขึ้นด้วย ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น เรื่องนี้จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินในการเข้ามาแก้ปัญหา โดยมองว่าในระยะสั้นต้องมีวิธีในการดูแลผู้มีรายได้น้อยไม่ให้ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น