นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) เห็นชอบหลักการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ (EEC Project List) อีก 4 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 4.7 แสนล้านบาท หลังจากที่ได้เคยเห็นชอบโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าจะมีการออกหนังสือชี้ชวนให้เอกชนมาร่วมลงทุนได้ภายในเดือน ต.ค.นี้
โครงการเพิ่มเติมทั้ง 4 ดังกล่าว ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าลงทุนรวม 290,000 ล้านบาท (ภาครัฐ 17,768 ล้านบาท ภาคเอกชน 272,232 ล้านบาท) , 2.โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา มูลค่าลงทุนรวม 10,588 ล้านบาท (ภาครัฐ 6,333 ล้านบาท ภาคเอกชน 4,255 ล้านบาท), 3.โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 114,047 ล้านบาท และ 4.โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 55,400 ล้านบาท (รวมเงินลงทุนทั้งหมด ท่าเรือก๊าซ ท่าเรือสินค้าเหลว และพื้นที่คลังสินค้า)
กำหนดการทำงาน โครงการที่ 1 โครงการที่ 2 โครงการที่ 3 โครงการที่ 4 ออกหนังสือชี้ชวน ต.ค.61 ต.ค.61 ต.ค.61 ต.ค.61 ได้เอกชนผู้ร่วมทุน ก.พ.62 ธ.ค.62 ก.พ.62 ม.ค.62 เปิดดำเนินการ ปี 66 กลางปี 65 ปลายปี 66 ต้นปี 68
สำหรับรายละเอียดของ 4 โครงการ มีดังนี้ 1.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หน่วยงานเจ้าของโครงการ คือ กองทัพเรือ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องนอกเหนือจากทางวิ่งที่ 2 และทางขับ (Runway 2 & Taxiway) ที่รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนแล้ว มีกิจกรรมรวม 6 ประเภท 1) อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ (หลังที่ 3) 2) ศูนย์ธุรกิจการค้า (Commercial Gateway) และการขนส่งภาคพื้น (GTC) 3) ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (ระยะที่ 2 นอกเหนือจากระยะแรก 500 ไร่) 4) เขตประกอบการค้าเสรี (Cargo Village or Free Trade Zone) และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 5) ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ (Cargo Complex) 6) ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ รวมถึงกิจการสาธารณูปโภคที่จำเป็น และการจัดตั้งหอบังคับการบิน ระบบควบคุมการจราจรทางอากาศ
2. โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา หน่วยงานเจ้าของโครงการ คือ บมจ.การบินไทย (THAI) กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การซ่อมใหญ่อากาศยาน (Heavy Maintenance / Base Maintenance) การซ่อมบำรุงอากาศยานระดับลานจอด (Line Maintenance) การพ่นสีอากาศยาน และส่วนประกอบอื่น (Aircraft Painting) กิจกรรมอื่นๆ ในการซ่อมบำรุงอากาศยาน
3.โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 หน่วยงานเจ้าของโครงการ คือ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เพื่อเพิ่มความสามารถเป็น 18 ล้าน TEU จาก 11 ล้าน TEU ในปัจจุบัน โดยการท่าเรือจะเป็นผู้ดำเนินการถมทะเล และให้เอกชนลงทุนการให้บริการท่าเรือ โดยเริ่มต้นจากที่ F1 และ F2 ก่อน ให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัยใช้ระบบอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม การท่าเรือจะได้ดำเนินส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานล่วงหน้าโดยเฉพาะระบบรถไฟทางคู่ให้เข้าเชื่อมระบบเรือสู่ราง
4. โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 เป็นการขยายท่าเรือมาบตาพุดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ (ประมาณ 10.8 ล้านตัน/ปี) และสินค้าเหลว (ประมาณ 4 ล้านตัน/ปี) ให้เป็นท่าเรืออุตสาหกรรมระดับภูมิภาค หน่วยงานเจ้าของโครงการ คือ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
โดย 5 โครงการสำคัญของ EEC ดังกล่าวซึ่งรวมถึงรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะมีเงินลงทุนรวม 652,559 ล้านบาท แบ่งเป็น ภาครัฐ 209,916 ล้านบาท (32%) ภาคเอกชน 442,643 ล้านบาท (68%) ขณะที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศ อยู่ที่ 819,662 ล้านบาท ไม่นับรวมการจ้างงาน ส่วนผลตอบแทนทางการเงินโครงการ 559,715 ล้านบาท แบ่งเป็น ภาครัฐ 446,960 ล้านบาท ภาคเอกชน 112,755 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบ 8 แผนงานระยะเร่งด่วนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลระยะเวลา 5 ปี เพื่อรองรับ EEC เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค ประกอบด้วย
แผนงานที่ 1 การพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand) และสถาบัน IoT
แผนงานที่ 2 การพัฒนา Advanced Big Data, Cloud and Data Center (ABCD)
แผนงานที่ 3 การพัฒนาศูนย์กระจายพัสดุภัณฑ์อัตโนมัติ (Automated Postal Distribution Center)
แผนงานที่ 4 IoT SMART City
แผนงานที่ 5 การสร้างศูนย์ทดสอบ 5G และเตรียมโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่นำร่อง
แผนงานที่ 6 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน IoT ในเขต EEC
แผนงานที่ 7 โครงสร้างพื้นฐาน ท่อร้อยสาย เคเบิ้ลใยแก้วนำแสงและเสา (i-Pole)
แผนงานที่ 8 ASEAN Digital Hub