(เพิ่มเติม) พาณิชย์เผย CPI ธ.ค.50 โต 3.2% Core CPI โต 1.2%,ทั้งปี 50 เงินเฟ้อ 2.3%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 2, 2008 15:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)ในเดือน ธ.ค. 50 อยู่ที่ 119.0 เพิ่มขึ้น 3.2% จากเดือน ธ.ค.49 และเพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือน พ.ย. 50  
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงาน อยู่ที่ระดับ 106.3 เพิ่มขึ้น 1.2% จากเดือน พ.ย.50 และเพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.49
ขณะที่ CPI เฉลี่ยปี 50 เพิ่มขึ้น 2.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วน Core CPI เฉลี่ยทั้งปีเพิ่มขึ้น 1.1%
ด้านดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 125.4 เพิ่มขึ้น 2.8% จาก ธ.ค.49 แต่ลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับ พ.ย.50 และ ดัชนีราคาสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารอยู่ที่ 115.2 เพิ่มขึ้น 3.5% จาก ธ.ค.49 และ เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับ พ.ย.50
กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อปี 51 จะอยู่ที่ 3.0-3.5% โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ที่ระดับ 80-85 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33.50-35 บาท/ดอลลาร์ และมองว่าเป้าหมายเงินเฟ้อดังกล่าวมีความเหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ
"GDP ปีนี้ที่ 4-5%และเป้าหมายเงินเฟ้อ 3-3.5% ถือเป็นเรื่องที่ดี ภายใต้สถานการณ์น้ำมันที่ขึ้นมาขนาดนี้ โชคดีที่ประเทศเราสามารถ control ได้ดี เมื่อเทียบกับหลายประเทศ ถือว่าสอดคล้องกับ GDP และราคาน้ำมัน"นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
สำหรับ CPI เดือนธ.ค.50 สูงขึ้น 0.1% จากเดือน พ.ย.50 ถือเป็นอัตราที่ชะลอลงเนื่องจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มมีแนวโน้มลดลง ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการลดลงของดัชนีหมวดผักและผลไม้ตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัยสำคัญจากการสูงขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและทำให้ CPI โดยเฉลี่ยมีอัตราสูงขึ้นเล็กน้อย
หากเปรียบเทียบ CPI ในเดือนธ.ค.50 ที่สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.2% สาเหตุหลักมาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 2.8% และหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 3.5%
นายศิริพล กล่าวว่า หากพิจารณา CPI เฉลี่ยทั้งปีนี้ที่สูงขึ้นจากปีก่อน 2.3% ถือเป็นอัตราที่ชะลอตัว เนื่องจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 50 ราคาเฉลี่ยน้ำมันในประเทศมีแนวโน้มลดลง และสูงขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีตามภาวะราคาตลาดโลก จึงทำให้มีการปรับอัตราค่าโดยสารสาธารณะ และสินค้าต่างๆ มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่ทั้งนี้จากการชะลอตัวของราคาสินค้าในช่วงครึ่งแรกของปี 50 ประกอบกับการบริหารจัดการด้านราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ จึงส่งผลให้แรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้ออ่อนตัวกว่าปี 49 โดยอยู่ที่ 2.3%
ด้านนางวัชรี วิมุกตายน รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขณะนี้กรมการค้าภายในกำลังติดตามต้นทุนวัตถุดิบของน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์นมอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ต้นทุนเหล่านี้ได้ปรับตัวตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าในระยะอันใกล้นี้จะมีสินค้ารายการใดปรับขึ้นราคาอีกบ้าง เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลให้ราคาสินค้าปรับขึ้นและปรับลงได้ หากประกาศไปแล้วจะทำให้ประชาชนตื่นตระหนก และร้านค้าถือโอกาสกักตุนสินค้า
"ตอนนี้ที่เราตามดูวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบ มีน้ำมันพืช เพราะปาล์มดิบปรับขึ้นตามผลพวงของพลังงานทดแทน...และยังมีผลิตภัณฑ์นมที่ขณะนี้กำลังดูว่าผลกระทบที่แท้จริงเป็นอย่างไร เพราะนมผงที่เรานำเข้ามาเป็นวัตถุดิบได้ปรับขึ้นไปจากที่เคยให้ปรับราคาไปครั้งที่แล้ว"นางวัชรี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ