ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดกำไรสุทธิแบงก์ไทย Q3/61 โต 7.7% YoY แต่หดตัว 9.1% QoQ รับผลกระทบฟรีค่าธรรมเนียมดิจิทัลต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 5, 2018 12:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาริชย์ที่จดทะเบียนในไทยในไตรมาส 3/61 จะมีกำไรสุทธิรวมประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาท เติบโต 7.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 9.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/61 โดยได้รับผลกระทบจากรายได้ค่าธรรมเนียมผ่านการทำธุรกรรมการเงินบนช่องทางดิจิทัลที่หายไปจากนโยบายฟรีค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล ที่เป็นแรงกดดันผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์อย่างมีนัยสำคัญ โดยที่ทิศทางของรายได้ค่าธรรมเนียมมีการเติบโตที่ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสแรกของปีนี้ที่โต 8.5% และโต 1.4% ในไตรมาส 2/61 และคาดว่าไตรมาส 3/61 จะทรงตัวหรืออาจะหดตัวได้ 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่อย่างไรก็ตามยังมีรายได้ค่าธรรมเนียมที่มาจากการเป็นนายหน้าขายประกันและกองทุนรวม รวมทั้งค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตเข้ามาหนุน

ทั้งนี้ รายได้ค่าธรรมเนียมที่หายไปส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ธนาคารต่าง ๆ หันมาอาศัยอานิสงส์ของรายได้อื่น ๆ โดยเฉพาะรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ที่จะเห็นว่าหลายธนาคารเริ่มปรับสัดส่วนของพอร์ตสินเชื่อที่เน้นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น สินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อเอสเอ็มอี รวมไปถึงมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในสินเชื่อบางประเภท เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น

ทำให้ประเมินว่าในช่วงไตรมาส 3/61 การขยายตัวของสินเชื่อจะขยายตัวสูงขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มากกว่าไตรมาส 2/61 ที่ขยายตัวได้ 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากแรงผลักดันของสินเชื่อรายย่อยที่เป็นตัวนำในการเติบโต และการขยายตัวของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่คาดว่าในไตรมาส 3/61 จะเพิ่มขึ้น 4.8% หรือมาอยู่ที่ 1.33 แสนล้านบาท มากกว่าไตรมาส 2/61 ที่เพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน หรืออยู่ที่ 1.29 แสนล้านบาท และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) เพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยที่ 3.2% จากไตรมาส 2/61 ที่ 3.16% ตามทิศทางของรายได้ดอกเบี้ยและผลตอบแทนของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ของหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจไทยยังเป็นช่วงการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งยังมีผลกดดันรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของสินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ทิศทาง NPL ของระบบธนาคารพาณิชย์ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาประกาศแนวทางดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์ และคาดว่า NPL ในไตรมาส 3/61 จะเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยเป็น 2.95% จากไตรมาส 2/61 ที่ 2.93% ซึ่งยังถือว่าต่ำกว่าระดับสูงสุดในไตรมาส 3/60 ที่ 2.97% และจะเริ่มปรับลดลงในไตรมาส 4/61 ตามฤดูกาลและการตัดหนี้สูญและขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และการที่ NPL เพิ่มขึ้นส่งผลต่อค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ (Credit Cost) ในไตรมาส 3/61 เพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยเช่นเดียวกันเป็น 1.17% จากไตรมาส 2/61 ที่ 1.14%

ขณะเดียวกันการบริหารจัดการต้นทุนของธนาคารพาณิชย์เริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะการบริหารจัดการต้นทุนฝั่งเงินฝากอย่างระมัดระวังผ่านหลายแนวทาง เช่น การออกแคมเปญเงินฝากที่เน้นการชดเชยรุ่นที่ครบกำหนดเป็นหลัก และการรักษาสัดส่วนเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ (CASA) ในระดับสูง ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยเอื้อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถบริหารจัดการต้นทุนเฉพาะหน้าได้ และช่วยประคองสถานะกำไรสุทธิในภาพรวมให้เติบโตได้

ทั้งนี้ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่เป็นประเด็นติดตามเฉพาะหน้าสำคัญ เช่น การบริหารจัดการรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอื่นๆของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะการขายเงินลงทุน ซึ่งอาจมีผลช่วยหนุนผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยให้มีโอกาสดีกว่าที่คาดได้ และการประกาศแนวทางดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่อาจมีผลต่อทิศทางตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ตลอดจนภาพรวมสินเชื่อในช่วงเดือนที่เหลือได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ