TMB Analytics เตือนผู้ประกอบการ-นลท.เตรียมรับมือความเสี่ยงวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคต ท่ามกลางเครื่องมือจำกัด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 5, 2018 13:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิเคราะห์ TMB Analytics แนะผู้ประกอบการและนักลงทุนควรจะเตรียมรับมือกับความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต จากปัญหาหนี้ในจีน แม้จะไม่รุนแรงเท่าวิกฤติ Subprime แต่อาจทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น อีกทั้งเครื่องมือในการรับมือมีจำกัดเมื่อเทียบกับวิกฤติครั้งก่อน

TMB Analytics ระบุว่า หลังจากเหตุการณ์วิกฤติการเงินโลกที่ทำให้ Investment Bank ยักษ์ใหญ่อย่าง Lehman Brothers ล้มละลายผ่านไปครบ 10 ปีในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่เกิดจากการที่นักลงทุนขาดความเข้าใจในความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่ตนเองลงทุนไป ซึ่งสินทรัพย์ที่เป็นต้นเหตุสำคัญตอนนั้นก็คือพวกตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน หรือ Mortgage-backed Securities วิกฤติในคราวนั้นสร้างผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ GDP หดตัวถึง 2.8% ในไตรมาส 4 ปี 2551 ที่เกิดวิกฤติ

ในขณะที่มูลค่าตลาดหุ้นสหรัฐฯก็ลดลงกว่า 40% ภายในระยะเวลาเพียง 5 เดือน ในตอนนั้นประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่หดตัวกว่า 40% ในระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือนทำให้มีหลายฝ่ายเริ่มออกมาพูดถึงวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น Investment Bank ชื่อดังอย่าง Goldman Sachs ที่รายงานว่าตัวชี้วัดเกี่ยวกับสัญญาณการเกิดวิกฤติเริ่มส่งสัญญาณแล้ว

TMB Analytics ระบุอีกว่า แม้ช่วงเวลาและปัจจัยที่จะเป็นต้นเหตุของการเกิดวิกฤติในคราวนี้จะชี้ชัดได้ยาก แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในโลกกำลังเผชิญปัจจัยที่น่ากังวลก็คือเรื่องหนี้ที่สูง ที่มีผลมาจากการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ทั้งการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเป็นเวลานานและการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านโปรแกรม QE ทำให้มีการก่อหนี้สูงในแทบจะทุกประเทศ โดยรายงานของ IMF เกี่ยวกับเสถียรภาพของการเงินโลก พบว่าในปี 2559 สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ทั่วโลกอยู่ที่ระดับ 260% แล้ว โดยหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้รัฐบาลและบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ซึ่งแนวโน้มดอกเบี้ยโลกขาขึ้นอาจจะกระทบความสามารถในการชำระหนี้ได้ โดยเฉพาะหนี้ของบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน

และที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือหนี้ของบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นมาจากบริษัทจีน โดยตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2559 บริษัทจีนมีหนี้เพิ่มขึ้นกว่า 14.4 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลจีนพยายามลดการก่อหนี้ หรือ Deleverage ก็ทำให้มีการผิดนัดชำระเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมของตลาดสินเชื่อจีนดูแย่ลง นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากจากสงครามทางการค้ากับสหรัฐฯที่บริษัทจีนจะต้องรับมืออีก ปัญหาหนี้ในจีนจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ค่อนข้างน่ากังวล แต่ความรุนแรงของวิกฤติครั้งนี้ TMB Analytics คาดว่าจะไม่รุนแรงเหมือนวิกฤติในปี 2551

เนื่องจากบทเรียนจากวิกฤติครั้งก่อนทำให้สถาบันการเงินมีการเตรียมการรับมือความเสี่ยงที่ดีขึ้น อีกทั้งผู้กำกับดูแลก็มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ Goldman Sachs ที่มองว่าวิกฤติครั้งนี้จะเป็นเพียงการชะลอตัวของราคาสินทรัพย์เท่านั้น แต่จะไม่ถึงขั้นราคาสินทรัพย์หดตัวรุนแรงเหมือนวิกฤติคราวก่อน

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการชะลอของเศรษฐกิจครั้งนี้ แม้ไม่รุนแรง แต่จะทำให้ช่องว่างทางความมั่งคั่งยิ่งกว้างขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่อีกหลายประเทศทั่วโลกก็เจอปัญหาเหล่านี้เช่นกัน โดยจากรายงานความมั่งคั่งของโลกที่จัดทำโดย Credit Suisse พบว่า สินทรัพย์เกือบครึ่งของโลกถูกถือโดยประชากรเพียง 1% ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้นนี้ก็อาจทำให้เกิดปัญหาทางสังคมอื่นๆตามมา

นอกจากนี้ Policy Space ที่มีไม่มากเท่ากับวิกฤติครั้งก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการเงิน หากพิจารณาช่วงที่เกิดวิกฤติปี 2551 เฟดลดอัตราดอกเบี้ยจาก 5.25% เหลือ 0.25% ในขณะที่ธปท. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 5% เหลือ 1.25% เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่ปัจจุบันดอกเบี้ยเฟดคาดว่าจะอยู่ที่ 2.5% และดอกเบี้ยนโยบายไทยที่ 1.75% ณ สิ้นปีนี้ ดังนั้น แม้ผลกระทบจากวิกฤติคราวนี้จะไม่ได้รุนแรงเท่าครั้งก่อน แต่เครื่องมือที่ใช้รับมือผลกระทบดังกล่าวก็จำกัดด้วยเช่นกัน

สำหรับประเทศไทยแม้เราจะไม่เห็นสัญญาณของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหากเกิดวิกฤติกับประเทศอื่น ประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ