นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมเตรียมเอสนอให้นายกรัฐมนตรีประกาศนโยบายส่งเสริมการลงทุนสร้างโรงงานประกอบรถไฟฟ้าในประเทศไทย เนื่องจากนับจากช่วงปีนี้ถึงปีหน้าไทยจะมีสั่งซื้อรถไฟฟ้าเข้ามาจำนวนมาก และมีแนวโน้มปริมาณการนำเข้าเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จำเป็นต้องมีโรงงานประกอบตัวรถไฟฟ้าในไทย เพื่อแก้ปัญหาต่างๆเป็นไปด้วยความรวดเร็วและง่ายขึ้น เช่น กรณีรถไฟฟ้าขัดข้อง รวมถึงจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย
ขณะเดียวกัน รัฐมีความต้องการพัฒนาขบวนรถไฟทางคู่เป็นระบบรถไฟฟ้าด้วย เพราะประหยัดและสะอาดกว่ามาก ทั้งนี้ คาดว่าพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะประกาศนโยบายส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานประกอบตัวรถในประเทศไทย ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุนให้เอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่สนใจเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานประกอบตัวรถไฟในไทย ซึ่งเชื่อว่านักลงทุนจะสามารถดำเนินการได้ทันที
"เวลานี้ก็มีนักลงทุนต่างชาติสนใจหลายราย ไม่เฉพาะ 5 ประเทศ ที่ไทยนำเข้ารถไฟฟ้า ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี ตุรกีและออสเตรีย"รมช.คมนาคมกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในความคิดเห็นส่วนตัวต้องการให้มีโรงงานประกอบตัวรถในแถบภาคอีสาน เพราะมีความแข็งแกร่งในการประกอบตัวรถบัสและรถโดยสารขนาดใหญ่อยู่แล้ว ประกอบกับมีความพร้อมด้านแรงงานฝีมือดีๆ ซี่ง จ.นครราชสีมา และ จ.ขอนแก่น ก็เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมและมีความพร้อมอย่างมาก
ในวันนี้ นายไพรินทร์ กล่าวเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 1 เรื่อง "Railway rolling stock maintenance and overhaul" ว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ไทยต้องเรียนรู้ระบบรางจากประเทศที่มีประสบการณ์ ก่อนที่การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน) จะแล้วเสร็จและเริ่มวิ่งให้บริการในอีก2-3ปี โดยร่วมมือกับเยอรมนีเป็นประเทศแรกในการฝึกอบรมบุคลากรระบบรางของไทย และในอนาคตอาจจะร่วมมือฝึกอบรมกับจีนและญี่ปุ่นด้วย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาไทยซื้ออุปกรณ์และเทคโนโลยีด้านรถไฟความเร็วสูงจากเยอรมนีจำนวนมากจึงอยากให้มีส่วนร่วมในการพัฒนารับบรางของไทย และ สิ่งที่รัฐอยากเห็น คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาประกอบตัวรถไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นไทยอาจเป็นประเทศศูนย์กลางระบบรางในระดับอาเซียนได้
นายแจน ลาร์ส คริสเตียน เชียร์ อุปทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เยอรมนีมีประสบการณ์ในการทำงานคู่ขนานกับหน่วยงานระบบรางในไทยมาอย่างยาวนาน ผ่านบริษัทสัญชาติเยอรมัน อาทิ บริษัท ซีเมนส์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้าที่กำลังใช้อยู่ในระบบบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที แอร์พอร์ต​เรลลิ้งค์ รวมไปถึงรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ หรือเอพีเอ็ม ที่กำลังก่อสร้างอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ดังนั้นเยอรมนีจึงมีศักยภาพในการเข้าถึงปัญหาและสิ่งท้าทายอื่นๆในการประกอบการระบบรางในประเทศ​ไทยเป็นอย่างมาก
นายแจน กล่าวต่อว่า ในส่วนของการลงทุนระบบรางในประเทศไทย นอกเหนือจากวงเงินจัดซื้อจัดจ้างช่วงแรกแล้ว จะต้องมองถึงวงเงินรวมของค่าซ่อมบำรุงด้วยถึงจะมีประสิทธิภาพดีที่สุด ซึ่งต้องมองล่วงหน้าไปว่าอีก10ปีค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเท่าไร