ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ข้อมูลการผลิตสหรัฐอ่อนแอ กดดอลล์อ่อนเทียบยูโร

ข่าวต่างประเทศ Thursday January 3, 2008 07:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ภาวะการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (2 ม.ค.) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนและยูโร หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลด้านการผลิตประจำเดือนธ.ค.ที่อ่อนแอเกินคาด ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงกว่า 200 จุด
สถาบันจัดการด้านอุปทาน (ไอเอสเอ็ม) ของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตประจำเดือนธ.ค.ร่วงลงสู่ระดับ 47.7% จากเดือนพ.ย.ที่ระดับ 50.8% ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจชะลอตัวลงรวดเร็วกว่าที่ประเมินไว้ในเบื้องต้น เนื่องจากดัชนีที่ระดับต่ำกว่า 50 จุดบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลง และดัชนีที่เหนือระดับ 50 จุดบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังขยายตัวขึ้น
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินยูโรแข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 1.4726 ดอลลาร์ต่อยูโร จากระดับของวันที่ 31 ธ.ค.ที่ 1.4682 ดอลลาร์ต่อยูโร และอ่อนตัวลงแตะระดับ 109.43 เยนต่อดอลลาร์ จากระดับ 111.54 เยนต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์ฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินปอนด์ โดยปอนด์ร่วงลงแตะระดับ 1.9802 ดอลลาร์ต่อปอนด์ จากระดับ 2.0029 ดอลลาร์ต่อปอนด์
นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงแตะระดับ 1.1178 ฟรังซ์สวิสต่อดอลลาร์ จากระดับ 1.1276 ฟรังซ์ต่อดอลลาร์ แต่แข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 99.07 เซนต์แคนาดาต่อดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 98.54 เซนต์แคนาดาต่อดอลลร์สหรัฐ
นายเจมส์ ฮิวจ์ นักวิเคราะห์จากซีเอ็มซี มาร์เก็ตส์กล่าวว่า ดอลลาร์ได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐและการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งนักลงทุนคาดว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในปีพ.ศ.2551 เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
ดอลลาร์ฟื้นตัวขึ้นในช่วงสั้นๆเมื่อเทียบกับสกุลเยน หลังจากรายงานการประชุมนโยบายเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ของเฟดระบุว่า คณะกรรมการเฟดบางคนเชื่อว่าภาวะสินเชื่อที่ตึงตัวขึ้นอาจทำให้เฟดจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยลง"อย่างมาก" อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการเฟดหลายคนเชื่อว่าภาวะทางการเงินอาจฟื้นตัวขึ้นในไม่ช้านี้ ซึ่งจะทำให้เฟดต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายการลดดอกเบี้ย
การที่ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นแตะระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในระหว่างวัน เนื่องจากสถานการณ์รุนแรงในไนจีเรียทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานตึงตัว และจากการคาดการณ์ที่ว่าน้ำมันดิบสำรองของสหรัฐจะลดลงอีกนั้น ทำให้นักลงทุนจำนวนมากปิดสถานะการลงทุนที่มีความเสี่ยง อาทิ การทำ carry trade ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่นักลงทุนกู้ยืมสกุลเงินที่ให้อัตราผลตอบแทนต่ำ และไปซื้อสกุลเงินที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ