นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมช่องทางตลาดยางพาราของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจการแปรรูปยางพาราในสถาบันเกษตรกร และเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ รวมถึงพัฒนาระบบการผลิตยางพาราให้สอดคล้องกับช่องทางการตลาดปัจจุบัน โดยเชิญผู้แทนสถาบันเกษตรกรที่แปรรูปยางพาราทั้งสิ้น 16 แห่ง และโรงงานผู้ผลิตยางรถยนต์เข้าร่วมงาน
โดยนำผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ซึ่งเป็นนวัตกรรมในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากยางพาราที่มีความก้าวหน้ามาแสดงให้กับผู้ประกอบการและสหกรณ์ทั้ง 16 แห่งได้ดู เพื่อให้สหกรณ์นำไปดำเนินการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำจากยางพารา เช่น หมอน ที่นอน รองเท้า ที่รองส้นเท้า เซรั่มยางพารา และเครื่องสำอางจากยางพารา
"ตรงนี้ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่กำลังจะเผยแพร่ในขบวนการสหกรณ์เพื่อผลักดันให้เป็นผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้ป้อนสู่ตลาดในอนาคต โดยจะเน้นถ่ายทอดความรู้ให้สหกรณ์ชาวสวนยางได้นำนวัตกรรมมาช่วยพัฒนาการผลิตยางแผ่นดิบให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น" นายเชิดชัย กล่าว
นอกจากนี้ยังมีการเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการและสหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา โดยคาดหวังว่าจะสนับสนุนให้สหกรณ์ผู้ผลิตยางขายให้กับบริษัทผู้ใช้ยางโดยตรง โดยเฉพาะบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่ผลิตยางรถยนต์ในต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งมีหลายโรงงานตั้งโรงงานผลิตอยู่ในประเทศไทย ดังนั้นถ้าสหกรณ์สามารถผลิตวัตถุดิบป้อนโรงงานยางรถยนต์ทุกแห่งที่อยู่ในประเทศได้จะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้มากขึ้น รวมทั้งโรงงานดังกล่าวจะได้ราคาวัตถุดิบที่ลดลง ในด้านของสหกรณ์ก็มีโอกาสขายยางให้บริษัทต่าง ๆ เป็นการขยายช่องทางตลาดและขายได้ในราคาที่ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมผลิตภัณฑ์ยางพาราในตลาดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คนเริ่มรู้จักผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพารามากขึ้น ซึ่งในชีวิตประจำวันสินค้าที่มีส่วนประกอบของยางพาราได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน ทั้งผลิตภัณฑ์ประเภทเก้าอี้ โต๊ะ ที่นอน ของใช้ภายในบ้านส่งผลทำให้ผลิตภัณฑ์ยางพาราได้การตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่องทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการที่กรมฯจัดประชุมเครือข่ายสหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา เพื่อเป็นช่องทางในการร่วมกันหาทางออกในการแก้ไขปัญหาราคายาง และสร้างทางเลือกใหม่ ๆ ให้เกษตรกร จากที่เคยส่งขายยางดิบไปต่างประเทศ 80% ก็จะหันมาผลิตเพื่อขายในประเทศให้มากขึ้น โดยการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และเน้นการขายตรงให้กับโรงงานในประเทศ เพราะจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้จำนวนมาก
" เมื่อสหกรณ์สามารถผลิตสินค้าคุณภาพตามที่โรงงานอุตสาหกรรมมีความต้องการก็จะทำให้เกิดความมั่นใจที่จะสั่งซื้อวัตถุดิบจากสหกรณ์มากขึ้น" นายเชิดชัย กล่าว