นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายเข้าไปตรวจสอบการนำเข้ามะพร้าว โดยขอให้ผู้นำเข้ารายงานผลการใช้มะพร้าวว่าถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้ในการขออนุญาตนำเข้าหรือไม่ เพื่อติดตามมะพร้าวที่นำเข้าว่าได้ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมตามที่แจ้งไว้จริง ไม่ใช่ถูกนำไปขายต่อในประเทศ ซึ่งผู้นำเข้าส่วนใหญ่ได้รายงานผลเข้ามาแล้ว คงเหลืออีกประมาณ 10 รายที่ไม่ได้รายงานผลการนำเข้า ซึ่งกรมฯ จะมีมาตรการดำเนินการต่อไป เช่น การไม่ออกหนังสือรับรองฯ เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมฯ ยืนยันว่าการนำเข้าไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ราคามะพร้าวตกต่ำ เพราะสถิตินำเข้าในช่วง 8 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ส.ค.) มีการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศปริมาณ 195,303 ตัน ลดลง 27.03% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการนำเข้า 268,672 ตัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามะพร้าวในประเทศมีเพียงพอ ส่วนที่มีข้อมูลว่าปี 2560 มีการนำเข้าเพิ่มถึง 420,971 ตัน เพิ่มขึ้น 115 เท่าจากปี 2559 ที่มีการนำเข้าเพียง 3676 ตันนั้นเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน
โดยข้อมูลจากกรมศุลกากร ปี 2559 พบว่ามีการนำเข้ามะพร้าวรวม 171,720 ตัน ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2560 เพิ่มขึ้นเพียง 1.68 เท่า ทั้งนี้การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการระบาดของหนอนหัวดำในมะพร้าว ทำให้มะพร้าวเสียหาย ผลผลิตลดลง จึงทำให้มีความจำเป็นต้องนำเข้าเพิ่มขึ้น แต่พอปี 2561 สามารถแก้ไขปัญหาโรคหนอนหัวดำได้ ทำให้มะพร้าวในประเทศมีผลผลิตออกมามาก การนำเข้าจึงลดลง
"ปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลผลิตภายในประเทศมีมาก เพราะไทยแก้ปัญหาโรคหนอนหัวดำได้แล้ว และอีกส่วนหนึ่ง อาจจะเกิดจากปัญหาการลักลอบนำเข้า ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเข้าไปดูแลและเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้าแล้ว" นายอดุลย์กล่าว
พร้อมระบุว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ เป็นเรื่องที่คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช จะต้องมีมาตรการออกมา กรมฯ หรือกระทรวงพาณิชย์เป็นเพียงแค่หน่วยงานปฏิบัติ โดยกรมฯ ได้ดูแลการนำเข้าตามพันธกรณีขององค์การการค้าโลก (WTO) และข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และได้มีการกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าไว้แล้ว
โดยภายใต้ WTO ผูกพันเปิดตลาดในโควตาไว้ 2,317 ตันต่อปี ภาษี 20% ให้นำเข้าได้ช่วง ม.ค.-พ.ค. และ พ.ย.-ธ.ค. แต่ถ้านอกโควตาเก็บภาษี 54% ให้นำเข้าได้ทั้งปี ไม่จำกัดปริมาณ และภายใต้ AFTA ภาษี 0% กำหนดเวลานำเข้าช่วงเดียวกับ WTO และไม่จำกัดปริมาณเช่นเดียวกัน ส่วนการจะเพิ่มมาตรการนอกเหนือจากนี้ เช่น การจำกัดระยะเวลานำเข้า คณะกรรมการพืชน้ำมันฯ ต้องเป็นผู้พิจารณา ซึ่งกรมฯ พร้อมที่จะปฏิบัติตาม แต่ก็ต้องดูว่าผิดเงื่อนไขของ WTO หรือไม่ เพราะอาจจะถูกฟ้องร้องได้
"ส่วนมาตรการอื่นๆ เช่น การกำหนดมาตรการให้ผู้นำเข้าซื้อมะพร้าวตามสัดส่วนการนำเข้า การใช้มาตรการสุขอนามัยพืช ก็เป็นเรื่องที่คณะกรรมการพืชน้ำมันฯ ต้องดำเนินการ ขณะที่การใช้มาตรการเซฟการ์ดเพื่อปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะต้องยื่นเรื่องเข้ามาให้กรมฯ พิจารณา ไม่ใช่อยู่ดีๆ กรมฯ จะใช้มาตรการได้เลย ซึ่งมีหลักการเดียวกันกับสินค้ารายการอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้า" อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศระบุ