นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ที่มี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมเป็นประธานการประชุมว่า ที่ประชุมให้ กพท. ศึกษาความเหมาะสมร่างกฎกระทรวงกำหนดนิติบุคคลอื่นในกรณีคุณสมบัติผู้ขอจดทะเบียนอากาศยานสัญชาติไทย และมาตรา 41/24 (6) ผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยาน โดยจะเปิดโอกาสให้กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งมีผู้จัดการกองทุนเป็นบุคคลสัญชาติไทยสามารถนับเป็นสัดส่วนเป็นผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยร้อยละ 51 ได้ และวิธีการกำกับดูแล โดยศึกษาจากกรณีของธุรกิจประกันภัย หรือโทรคมนาคม และให้นำเสนอคณะกรรมการ กบร. ในการประชุมตั้งต่อไปในเดือนพฤศจิกายน 2561 ก่อนออกเป็นกฎกระทรวงต่อไป ซึ่งจะเป็นผลดีกับสายการบินให้สามารถระดมทุนได้หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะหากเกิดกรณีประสบปัญหาทางการเงิน
และปรับปรุงร่างนโยบายนิรภัยการบินแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับแนวทางขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยศึกษาจากเอกสารคู่มือประกอบภาคผนวก 9859 (Document 9859) ซึ่งเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศที่เพิ่งประกาศใช้ รวมทั้งคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ EASA ก่อนนำเสนอคณะกรรมการ กบร. ในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนพฤศจิกายน 2561 และคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ในปี 2561 ทั้งนี้ นโยบายนิรภัยการบินแห่งชาติดังกล่าว จะแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีแผนเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านการบิน สายการบินต้องบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยภายในองค์กร โดยมี กพท. เป็นหน่วยงานกำกับและกำหนดตัวชี้วัด และนำวัฒนธรรมที่เป็นสากลมาปรับใช้