ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าแนวโน้มสินเชื่อจำนำทะเบียนในระยะที่เหลือของปีนี้ คงได้รับผลกระทบจำกัดจากแนวนโยบายรัฐที่จะขยายขอบเขตการกำกับดูแลผู้ให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โดยกำหนดให้เป็นธุรกิจที่ต้องขอรับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ช่วยให้ผู้บริโภค มีโอกาสได้รับบริการทางการเงินจากผู้ประกอบการที่มีบรรทัดฐานและแนวปฏิบัติอย่างชัดเจน โปร่งใส ในมาตรฐานเดียวกัน โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อดังกล่าวในปีนี้ แม้ว่าอาจมีทิศทางที่ชะลอลง แต่ก็จะเป็นผลจากปัจจัยอื่นๆ มากกว่า อาทิ ปัจจัยด้านฐานที่ขยายตัวสูงในช่วงหลายปีก่อน และโอกาสของตลาดรถใหม่ที่กลับมาขยายตัวดีขึ้นหลังจากการผ่อนชำระรถในโครงการรถคันแรกทยอยสิ้นสุดลง เพราะลูกค้าเป้าหมายบางส่วนขายรถเก่าที่ตนเองมีกรรมสิทธิ์ เพื่อซื้อรถใหม่ทดแทน ซึ่งทำให้พอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรวมอาจเบี่ยงไปเติบโตในสินเชื่อรถใหม่และสินเชื่อรถใช้แล้วเพิ่มขึ้นแทน (โดยลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อกลุ่มนี้จะยังไม่สามารถขอสินเชื่อจำนำทะเบียนได้)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าอัตราการเติบโตของยอดสินเชื่อจำนำทะเบียนในปี 2561 อาจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากระดับ 14.6% ในปี 2560 เป็นประมาณ 10% (YoY) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับฐานที่สูงในช่วง 2 ปีก่อน ที่ธนาคารหลายแห่งเพิ่งเข้าบุกเบิกและรุกธุรกิจนี้อย่างจริงจัง
สำหรับแนวนโยบายที่ทางการโดย ธปท. และกระทรวงการคลัง จะกำหนดให้ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน เป็นธุรกิจที่ต้องขอรับอนุญาต นับเป็นก้าวสำคัญในการขยายขอบเขตการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้ใช้บริการรายย่อย รวมถึงประชาชนที่มีรายได้น้อยและกลุ่มอาชีพอิสระที่ยังเข้าไม่ถึงสถาบันการเงินในระบบ จากการกำหนดกรอบการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน โปร่งใส และมีโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยที่สมเหตุผล ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
สินเชื่อจำนำทะเบียนรถเติบโตกว่า 3 เท่าตัวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ด้วยเงื่อนไขที่เอื้ออำนวย (Win-Win) กับทั้งฝ่ายผู้ให้กู้และผู้กู้ จากลักษณะที่เป็นสินเชื่อบุคคลประเภทมีหลักประกัน ทำให้ในมุมผู้ประกอบการมีอัตราส่วนสูญเสียต่ำแต่มีผลตอบแทนที่ดี ขณะที่ในมุมผู้กู้จะได้รับอนุมัติวงเงินและรับเงินได้รวดเร็วทันใจในอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงกว่าสินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงทางเลือกผ่อนชำระได้นานถึง 60 งวด หรือ 5 ปี
ฐานข้อมูลยอดคงค้างสินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยรวบรวมจากสมาชิกสมาคม 38 ราย ณ มิ.ย. 2561 อยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาจากระดับ 5 หมื่นล้านบาทในปี 2557 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ 50% ซึ่งข้อมูลของกระทรวงการคลังสำรวจพบว่ามีผู้ประกอบการนับพันรายในธุรกิจนี้ และเกี่ยวพันกับผู้ใช้บริการจำนวนถึง 3 ล้านราย
ทั้งนี้ พอร์ตสินเชื่อจำนำทะเบียนส่วนใหญ่กว่า 70-80% (โดยคาดว่าเป็นฐานลูกค้ารวมประมาณ 1 ล้านราย หรือ 1 ใน 3 ของฐานข้อมูลที่กระทรวงการคลังสำรวจ) อยู่ในกลุ่มธนาคารและบริษัทในเครือธนาคาร ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับการปฏิบัติที่ไม่แตกต่างจากการขอสินเชื่อประเภทอื่น และคงมีปัญหา/ข้อขัดแย้งกับผู้ให้บริการไม่มากนัก (อาจมียกเว้นบางกรณีที่ลูกค้าผิดนัดชำระหนี้และขาดการติดต่อสื่อสารกับผู้ให้บริการ)
อย่างไรก็ตาม พอร์ตที่เหลือซึ่งครอบคลุมฐานผู้ใช้บริการจำนวนมากหรือราว 2 ล้านราย ที่ให้บริการโดย Non-Bank และผู้ให้บริการรายย่อยอื่น มีแนวปฏิบัติที่ต่างออกไป โดยเฉพาะในประเด็นด้านอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากมุ่งเน้นลูกค้าคนละกลุ่มกับผู้ประกอบการข้างต้น ซึ่งส่วนใหญ่อาจมีลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงกว่า ตามลักษณะเฉพาะทางอาชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคมในระดับครัวเรือนในพื้นที่ ซึ่งการเข้าจัดระเบียบการกำกับดูแลผู้ประกอบการนี้ จึงสะท้อนเจตนารมย์ของภาครัฐที่ต้องการกระจายโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนรายย่อยในระบบ และช่วยให้ลูกค้ามีโอกาสได้รับบริการที่ดีขึ้น จากการสร้างบรรทัดฐานของธุรกิจบนหลักการที่คำนึงถึงประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งน่าจะเป็นรากฐานการเติบโตที่ดีในระยะต่อไป ทั้งด้วยการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้บริการ และความคุ้นเคยที่คงขยายวงกว้างออกไป อันเป็นหลักการเดียวกันกับที่ทางการเคยใช้ในการเข้าจัดระเบียบการทำธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับเป็นครั้งแรกในปี 2548
ทั้งนี้ แนวทางการกำกับดูแล จะแบ่งตามขนาดทุนของผู้ประกอบการ โดยกำหนดให้เป็นธุรกิจที่ต้องขอรับอนุญาตจาก ธปท. และกระทรวงการคลัง ด้วยเกณฑ์ขนาดของทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท และ 5 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งผลกระทบจากมาตรการใหม่และเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม คือ
ผู้ประกอบการในกลุ่ม Non-Bank และผู้ประกอบการสินเชื่อที่ใช้ทะเบียนรถจักรยานยนต์เป็นประกัน: ซึ่งมีโครงสร้างต้นทุนการดำเนินงานที่สูง อาจจะถูกกระทบจากมาร์จิ้นที่บางลง ภายใต้แนวทางการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 28% และ 36% ของทางการ เนื่องจากฐานลูกค้าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งด้วยลักษณะหลักประกันที่ติดตามยาก และตัวลูกค้าที่อาจเป็นกลุ่มประกอบอาชีพอิสระ รวมทั้งอาจไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองและ/หรือเป็นหลักแหล่งที่ชัดเจน ซึ่งทางการคงต้องดำเนินการหรือพิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้กระทบต่อโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่มลูกค้าระดับล่างที่มีทางเลือกน้อยในการใช้บริการกับสถาบันการเงินในระบบ โดยอาจพิจารณามาตรการสนับสนุนเพื่อจูงใจให้มีผู้ประกอบการเข้ามาดูแลลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้น เพื่อลดการผูกขาดในตลาดและลดอัตราดอกเบี้ยที่ผู้กู้ต้องรับภาระลง
ข้อกำหนดที่จะให้ยกเว้นดอกเบี้ยหรือเบี้ยปรับจากการปิดบัญชีสินเชื่อก่อนครบสัญญา: อาจกระทบต่อโอกาสทางธุรกิจและรายได้ของผู้ประกอบการ ขณะที่ความเสี่ยงจากลูกค้าและธุรกิจยังคงเดิม โดยปัจจุบันการให้กู้ยืมเพื่อจำนำทะเบียนรถจัดทำเป็นสัญญาใน 2 ลักษณะ และยังต้องติดตามแนวทางการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าว ดังนี้
ใช้สัญญาเช่าซื้อ – อยู่ภายใต้ประกาศสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งปัจจุบันหากปิดบัญชีก่อนกำหนด ผู้กู้ต้องชำระค่าดอกเบี้ยตามสัญญาที่ยังไม่เกิดขึ้นในอัตรา 50% ทั้งนี้ การดูแลสัญญาประเภทนี้ อยู่นอกเหนืออำนาจของ ธปท. ณ ขณะนี้ ดังนั้น การออกแนวทางการกำกับดูแลสำหรับผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับ ธปท. ให้ยกเว้นการเก็บดอกเบี้ยกรณีปิดบัญชีก่อนกำหนด จะสร้างความแตกต่างกับผู้ประกอบการที่อยู่นอกขอบเขตการกำกับดูแลของ ธปท.
ใช้สัญญากู้ยืม – อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ซึ่งปัจจุบันหากปิดบัญชีก่อนกำหนด ผู้กู้ต้องชำระค่าเสียโอกาส (Prepayment Fee) ในอัตรา 2% ของเงินต้นคงค้าง กรณีสัญญานี้ แม้ ธปท. จะสามารถออกประกาศเพิ่มเติมเพื่อกำหนดให้ผู้ประกอบการยกเลิกการเรียกเก็บค่าปิดบัญชีก่อนกำหนดได้ แต่อาจต้องคำนึงถึงความแตกต่างจากแนวปฏิบัติของสินเชื่อประเภทอื่นร่วมด้วย อาทิ สินเชื่อรายย่อยระยะยาวประเภทสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งปัจจุบันมีการกำหนดเบี้ยปรับไว้ที่ 3% ของเงินต้นคงค้าง หากปิดบัญชีก่อนกำหนด 3 ปี