นายธีรัชย์ อัตนวานิช โฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มองว่า การเคลื่อนย้ายเงินทุนในปี 62 มีแนวโน้มที่จะมีความผันผวนมากกว่าในปีนี้ สืบเนื่องจากธนาคารกลางของหลายประเทศทยอยกลับเข้าสู่การใช้นโยบายการเงินในระดับปกติ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยปรับเข้าสู่ขาขึ้น ส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่
ขณะที่ไทยสวนทางกับประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ เนื่องจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังมีความเข้มแข็ง ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น และยังมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ ซึ่งทำให้ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีเพื่อรองรับกับความผันผวนของเงินทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ดี มองว่าในขณะนี้อาจยังไม่ใช่จังหวะเวลาที่เหมาะสมในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในบางภาคยังเปราะบาง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยนโยบายทางการเงินเพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศในระยะหนึ่งไปก่อน
"กระทรวงคลังมองว่า การขึ้นดอกเบี้ยตอนนี้ยังไม่ใช่ timing เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของเราที่แม้จะ recovered แต่บาง sector ก็ยังมีความเปราะบางอยู่ ดังนั้นนโยบายการเงินก็ยังน่าจะต้องช่วยในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไปในระยะหนึ่งก่อน แต่การตัดสินใจคงต้องขึ้นกับ กนง. ซึ่ง สบน.จะต้องติดตามในส่วนนี้"โฆษก สบน.กล่าว
พร้อมระบุว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในตลาดโลกนี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ สบน.จะติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะจะมีผลต่อสภาพคล่องของประเทศที่อาจจะลดลงบ้าง ซึ่งนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้มอบนโยบายให้ สบน.ไปศึกษาเรื่องแหล่งเงินกู้ โดยเฉพาะการกู้เงินที่จะนำมาใช้ในโครงการลงทุนระยะยาว ว่าสามารถใช้เงินกู้จากต่างประเทศที่มีต้นทุนที่ดีได้อย่างไรบ้าง
"โดยหลักแล้ว การระดมทุนของไทยในปีหน้า ยังมาจากการกู้เงินในประเทศ เพราะมองว่าตลาดในประเทศยังไปได้ accommodate ความต้องการในการกู้เงินของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนได้ เพียงแต่มันมีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม" นายธีรัชย์กล่าว
พร้อมคาดว่า การออกพันธบัตรออมทรัพย์ในปีงบประมาณ 62 จะอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยจะเน้นการออกพันธบัตรในระยะกลางมากขึ้น เพราะจากที่นักลงทุนต่างประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่เป็นขาขึ้นนั้น จึงทำให้ในปีนี้มีการชะลอการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวลง ดังนั้นในปีหน้า สบน.จะเน้นการออกพันธบัตรอายุ 5 ปี, 10 ปี, 15 ปี, 20 ปี และ 30 ปีเป็นหลัก ส่วนอายุ 50 ปี อาจจะมีบ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน
"แม้มีข่าวว่า กนง.จะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า แต่ปัจจัยนี้ตลาดได้คาดการณ์เอาไว้แล้ว เชื่อว่าจะไม่ effect ให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรต่ำลงแบบมีนัยสำคัญ" นายธีรัชย์กล่าว
โฆษก สบน.กล่าวด้วยว่า สำหรับการบริหารความเสี่ยงในช่วงที่ผ่านมา สบน. ได้ให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยหลัก คือ อัตราดอกเบี้ย, อัตราแลกเปลี่ยน และการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งในส่วนของการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนจากภาระหนี้ต่างประเทศนั้น สบน.ได้ทยอยทำ hedging เกือบครบแล้ว และคาดว่าภายในปีงบประมาณ 62 จะสามารถชำระคืนเงินกู้ให้แก่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ได้ครบ
"ปีนี้ต้องทยอยทำอีกก้อน คือ ไจก้า ถ้าหมดเงินกู้ของไจก้าแล้ว ในส่วนของหนี้ต่างประเทศที่เป็นของรัฐบาล และที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบในเรื่องการชำระหนี้ ถือว่าปิดได้ครบ 100% หรือเป็น zero ซึ่งตอนนี้ยังเหลืออยู่ราว 5-6 หมื่นล้านเยน เป็นหนี้ของ รฟม.ที่กู้มาสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง" นายธีรัชย์กล่าว