นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อผลการศึกษาโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับแผนแม่บทการขนส่งทางอากาศของประเทศไทยนี้จะเป็นการวางกรอบทิศทางการพัฒนาของแผนแม่บทการขนส่งทางอากาศรวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ เพื่อมุ่งสู่การเป็น "ศูนย์กลางธุรกิจการบินของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก" ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2561 - 2580) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ( 2560-2564) ยุทธศาสตร์โมเดล "ประเทศไทย 4.0" และอุตสาหกรรม 4.0
โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนาการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย ระยะ 15 ปี (2562-2576) สำหรับใช้เป็นกรอบทิศทางการพัฒนาการขนส่งทางอากาศ โดยเชื่อมโยงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการ ใน 5 ประเด็น ได้แก่ 1.การพัฒนาระบบท่าอากาศยานและโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยง 2.การพัฒนาธุรกิจสายการบินและธุรกิจสนับสนุน 3. การพัฒนาบริการการเดินอากาศ 4. การพัฒนากลไกการกำกับดูแลและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และ 5. การพัฒนาบุคลากรด้านการบิน
รวมทั้งจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยได้จัดทำโครงการนำร่องการพัฒนาระบบการขนส่งทางอากาศ 2 โครงการ ได้แก่ "การจัดทำแนวทางและขั้นตอนการพัฒนา Airport Logistics Park (ALP) ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ" และ "การพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคเพื่อใช้ฝึกอบรมนักบิน" เพื่อเป็นต้นแบบในการส่งเสริมการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดต้นทุน
"ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้มีการพัฒนาระบบการขนส่งทางอากาศ โดยเฉพาะสนามบิน หรือ สายการบิน. แต่แผนนี้จะเป็นภาพรวม ซึ่ง ปัจจุบันการขนส่งสินค้าทางอากาศมีการเติบโตสูง จาก E-Commerce ซึ่งต้องการการกระจายสินค้าจากเครื่องบินไปสู่ผู้ซื้อในเวลารวดเร็วและถูกต้องตามกำหนด ดังนั้นจะต้องมีการระบบการเชื่อมต่อเพื่อกระจายสินค้าระหว่างอากาศและทางบก ที่ดีเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าได้ในอนาคต"รมว.คมนาคม กล่าวหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา"การศึกษาจัดทำแผนแม่บทการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย" ครั้งที่2
ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิมีปริมาณสินค้าในพื้นที่ฟรีโซน เพิ่มสูงขึ้นทุกปี คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 80% ของพื้นที่แล้วซึ่งกระทรวงคมนาคมให้นโยบายในการส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางอากาศสนามบินภูมิภาคเพิ่มขึ้น จากปัจุบันที่ใช้พื้นที่ใต้ท้องเครื่องบินโดยสารเป็นหลัก
นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สนข.รับฟังความเห็น ครั้งที่2 และจะใช้เวลาสรุปความเห็นต่างๆ ประมาณ 1 เดือน เพื่อจัดทำแผนเสนอกระทรวงคมนาคม และครม.ต่อไป เพื่อใช้เป็นแผนแม่บททางอากาศฉบับแรกของประเทศ
ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาระบบขนส่งทางอากาศ จะมีการปรับปรุงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานภูมิภาค สนับสนุน การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมการบินของประเทศ การซ่อมบำรุงท่าอากาศยาน ส่งเสริมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง เช่น ท่าอากาศยานอู่ตะเภา (ระยอง-พัทยา) เป็นต้น
ปัจจุบันการขนส่งทางอากาศมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมาก โดยมีมูลค่าคิดเป็น 12 %ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) ในปี 2560 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีผู้โดยสารประมาณ 60 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบินมากกว่า 350,000 เที่ยวต่อปี ในขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมือง มีผู้โดยสารประมาณ 38 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบินมากกว่า 250,000 เที่ยวต่อปี ส่วนการขนส่งสินค้าทางอากาศมีมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดประมาณ 8 ล้านล้านบาท
ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าทั้งหมดประมาณ 7.6 ล้านล้านบาท สัดส่วนมูลค่าการนำเข้าและส่งออกทางอากาศสูงถึง 24% จากมูลค่าการนำเข้าและส่งออกทั้งหมดของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับปริมาณการขนส่งทางอากาศที่เป็นสัดส่วนเพียง 1 %ของปริมาณการนำเข้าและส่งออกทั้งหมด โดยในจำนวนนี้มีสัดส่วนของสินค้านำเข้า – ส่งออกที่ผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิถึงประมาณ 96.95 % ของสินค้านำเข้า – ส่งออกทางอากาศทั้งหมด
โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นจุดที่มีการขนส่งสินค้าทั้งระหว่างประเทศและในประเทศสูงที่สุด รวมถึงการขนส่งผู้โดยสารทำให้ไม่สามารถให้บริการได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ แผนแม่บทนี้จะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคญของประเทศในการกำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาด้านการขนส่งทางอากาศ ได้ชัดเจน และทำให้ผู้เกี่ยวข้อง ทั้ง หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน บูรณาการในการพัฒนาการขนส่งทางอากาศร่วมกัน เช่น การพัฒนาท่าอากาศยาน ธุรกิจสายการบิน การบริหารการจราจรทางอากาศ การกำกับดูแลกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพัฒนาบุคลากรทางด้านการบิน รองรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต