นายธีรัชย์ อัตนวานิช โฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า กรณีมีข้อกังวลในสื่อโซเชียลต่อยอดหนี้สาธารณะของไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดหนี้สาธารณะคงค้างเดือน ส.ค.61 อยู่ที่ 6.67 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.32% ต่อจีดีพี ซึ่งในส่วนนี้เป็นหนี้ของรัฐบาลสูงถึง 5.36 ล้านล้านบาทนั้น ยืนยันว่า การบริหารหนี้สาธารณะยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งยังคงไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี ซึ่งหนี้สาธารณะในระดับปัจจุบันยังถือว่าค่อนข้างต่ำ
อย่างไรก็ดี แม้หนี้สาธารณะจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่ได้มีความน่าเป็นห่วงต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากที่ผ่านมาการใช้จ่ายของรัฐบาลผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆ ได้สร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็เติบโตขึ้นสอดคล้องกับจำนวนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นประเด็นสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าจำนวนหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่สิ่งที่ สบน.ให้ความสำคัญมากกว่านั้น คือการก่อหนี้ที่มีคุณภาพของรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจ
"การก่อหนี้ของรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจ เราจะให้ความสำคัญกับคุณภาพหนี้ และการใช้จ่าย การก่อหนี้ที่ดีคือต้องทำให้เกิดรายได้ในอนาคต และสร้างศักยภาพของประเทศ คน และองค์กรในระยะยาว ซึ่งการก่อหนี้ในเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลใช้นั้น ถือว่าเป็นการก่อหนี้ที่มีคุณภาพ ซึ่งในอนาคตจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน" โฆษก สบน. กล่าว
พร้อมกันนี้ ได้ชี้แจงที่มาของยอดหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงที่เพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลา ส.ค.57 - ส.ค.61 ว่า เป็นการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อดำเนินนโยบายการคลังในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 - 2561 รวมถึงการกู้เงินเพื่อให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อสำหรับลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ซึ่งการเพิ่มขึ้นของการลงทุนดังกล่าวสะท้อนได้จากสัดส่วนการลงทุนของภาครัฐต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 4% ในปี 2557 เป็น 6% ในปีปัจจุบัน และสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายเพื่อการลงทุนของรัฐบาลในกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 17.5% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ 2557 (หรือ 441,128.6 ล้านบาท) เป็น 22.2% ในปีงบประมาณ 2561 (หรือ 676,469.6 ล้านบาท)
รวมถึงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในสาขาคมนาคมขนส่ง ได้แก่ ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, ระบบรถไฟทางคู่เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งในภูมิภาค, ระบบทางพิเศษในเขตกรุงเทพมหานคร และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เป็นต้น โดยในช่วงปี 2558 -2561 มีการเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนผ่านโครงการดังกล่าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจรวมทั้งสิ้น 330,905.46 ล้านบาท
"ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ในเดือนสิงหาคม 2561 เท่ากับ 41.32% ยังอยู่ภายใต้สัดส่วนการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยหากเปรียบเทียบกับระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ในเดือนสิงหาคม 2557 ที่ 43.12% พบว่ามีแนวโน้มลดลง แสดงให้เห็นว่าการลงทุนของรัฐบาลผ่านระบบงบประมาณ และผ่านการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเพิ่มขึ้นได้ตามศักยภาพที่ควรจะเป็น" โฆษก สบน.กล่าว
สำหรับการบริหารหนี้สาธารณะในอนาคตนั้น นอกจากจะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะแล้ว ยังต้องสอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งประกาศใช้ในเดือนเม.ย.61 ด้วย โดยมีการกำหนดสัดส่วนการบริหารหนี้สาธารณะเพื่อรักษาวินัยในการก่อหนี้ของรัฐบาล ซึ่งนอกจากการรักษาระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสัดส่วนรายได้ของรัฐบาลเพื่อการชำระหนี้ในอนาคตด้วย โดยรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ในสัดส่วนที่เหมาะสม กล่าวคือ ชำระดอกเบี้ยตามภาระที่เกิดขึ้นจริง และชำระคืนต้นเงินกู้ตามสัดส่วนที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด คือ ไม่ต่ำกว่า 2.5% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย
ทั้งนี้ การชำระคืนต้นเงินกู้จะต้องอยู่ในช่วงระหว่าง 2.5 - 3.5% ของกรอบงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี รวมถึงกำหนดสัดส่วนงบลงทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า20% ของวงเงินงบประมาณในแต่ละปี โดยกำหนดให้การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณต้องนำไปใช้จ่ายเพื่อการลงทุนเท่านั้น ทำให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบในการจัดเก็บรายได้ให้เพียงพอสำหรับรายจ่ายประจำ ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินนโยบายการคลังและการบริหารหนี้สาธารณะของรัฐบาลมีความยั่งยืนในระยะยาว
โฆษก สบน. กล่าวด้วยว่า ในอดีตที่ผ่านมานับตั้งแต่ไทยประสบกับวิกฤติการทางการเงินนั้น จะพบว่ารายจ่ายด้านการลงทุนของภาครัฐมีตัวเลขที่ลดลง ประกอบกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้นโยบายการลงทุนของรัฐบาลประสบปัญหาไม่ต่อเนื่อง ซึ่งการลงทุนในระดับที่ต่ำมากต่อเนื่องหลายปี ย่อมส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
"หลังจากมีวิกฤติเศรษฐกิจ งบรายจ่ายลงทุนของเราลดลงตลอด นอกจากนี้การเมืองที่มีความขัดแย้งก็ทำให้นโยบายการลงทุนระยะยาวมีปัญหา Public investment ต่อจีดีพีของไทยต่ำมากไม่ถึง 5% ยิ่งปีไหนที่การเมืองขัดแย้งมากๆ จะเหลือแค่ 4% ต้นๆ ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมี Public investment ถึง 10-15% ต่อจีดีพี ซึ่งของไทยต่ำกว่าถึงครึ่ง แต่ปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่างบลงทุนตั้งแต่ปี 57-61 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตลอด" นายธีรัชย์ ระบุ