ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 2/61 ขยับขึ้นมาที่ 12.34 ล้านล้านบาท (เติบโต 5.7% YoY) โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่น่าจะเป็นผลมาจากการเร่งตัวขึ้นของยอดคงค้างสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ โดยหากนับเฉพาะการขยับขึ้นยอดคงค้างสินเชื่อบ้านจะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 38% ของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในระหว่างไตรมาส 2
อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ยังคงชะลอลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 77.5% ในไตรมาส 2/61 โดยเป็นผลมาจากเศรษฐกิจ (วัดจาก Nominal GDP) ที่ขยายตัวเร็วกว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือน
การขยับขึ้นของหนี้ครัวเรือนดังกล่าวสะท้อนสภาพการแข่งขันในตลาดสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่ออุปโภคบริโภคอื่นๆ ของ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) สวนทางกับสถาบันการเงินประเภทอื่นๆ ที่มีบทบาทลดลง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 61
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อานิสงส์จากเศรษฐกิจไทยที่เติบโตดีขึ้นอาจส่งผลทำให้ยังคงเห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 61 ขยับลงต่อเนื่องมาอยู่ในกรอบ 77.0-78.0% อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนในปีนี้ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ก้อนใหญ่) รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยที่มีโอกาสขยับขึ้นในระยะข้างหน้า อาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนบางกลุ่ม แม้ปัจจัยดังกล่าวอาจจะไม่กระทบต่อทิศทางของหนี้ครัวเรือนในภาพรวมมากนัก หากเศรษฐกิจไทยยังคงประคองการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในปีหน้า
สำหรับข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาครัวเรือน หรือหนี้ครัวเรือนไทย ล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 2/61 โดยยอดคงค้างหนี้เติบโตเร่งขึ้นใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน และบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน อาทิ ผู้ให้บริการบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งการเร่งตัวขึ้นของหนี้ครัวเรือนดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่สะท้อนว่า มีการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ นับตั้งแต่ต้นปี 61 ที่ผ่านมา