ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 45.2 เนื่องจากครัวเรือนมีจากมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้นต่อประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำ ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกและราคาอาหารนอกบ้านที่ในเดือน ก.ย.61 เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนอีกร้อยละ 2.17 และร้อยละ 0.70 ตามลำดับ
ดัชนีองค์ประกอบสะท้อนมุมมองทางด้านรายได้และการมีงานทำของครัวเรือนยืนเหนือระดับ 50.0 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 สะท้อนภาพตลาดแรงงานในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง สอดรับไปกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย จากการสำรวจในเดือนก.ย.61 พบว่า ราวร้อยละ 15 ของครัวเรือนไทยที่ทำการสำรวจมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนนอกภาคเกษตร โดยเฉพาะในภาคการค้า (ผลประกอบการดีขึ้น) และภาคการผลิต (ได้ค่าทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้น) ในขณะที่ครัวเรือนภาคเกษตรยังเผชิญแรงกดดันทางด้านราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลง รวมไปถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทั้งในส่วนของปัจจัยการผลิต (เช่น ปุ๋ย) และค่าจ้างแรงงาน ทำให้รายได้สุทธิของครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมยังคงชะลอตัว
นอกจากนี้ดัชนีองค์ประกอบสะท้อนมุมมองทางด้านรายได้และการมีงานทำของครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้น ยังสอดคล้องไปกับจำนวนผู้ว่างงานที่ลดลง โดยในเดือน ก.ย.61 มีจำนวนผู้ว่างงานลดลง 70,620 อัตรา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมาจากภาคเกษตรกรรมและภาคการค้า/การบริการเป็นสำคัญ
สำหรับดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (ต.ค.-ธ.ค.) ยังทรงตัวต่อเนื่องจากเดือน ส.ค.61 ที่ระดับ 46.5 เนื่องจากครัวเรือนมองว่ารายได้ในอนาคตน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากการปรับขึ้นของค่าจ้าง/รายได้ รวมถึงการได้รับค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส, ค่าคอมมิชชัน) ในช่วงปลายปีน่าจะครอบคลุมและเพียงพอต่อรายจ่าย (รวมภาระหนี้สิน) ต่างๆ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น (High season)
ทั้งนี้ จากมุมมองของครัวเรือนที่พร้อมจะใช้จ่ายตามรายได้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต นับเป็นสัญญาณการบริโภคของภาคเอกชนที่ดี ซึ่งน่าจะช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4/61 ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังทำการสำรวจเพิ่มเติมเพื่อติดตามต่อเนื่องในประเด็นเรื่องความกังวลของครัวเรือนไทยต่อสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันและในระยะข้างหน้า พบว่า เมื่อเทียบผลการสำรวจความคิดเห็นของครัวเรือนระหว่างเดือน ก.ย.61 กับเดือนส.ค.61 นั้น ครัวเรือนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีความกังวลมากขึ้นต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 61 ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากในเดือน ก.ย.61 มีฝนตกชุกกว่าเดือน ส.ค.61 สะท้อนจากปริมาณน้ำฝนรายเดือนที่ในเดือนก.ย. มีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.61
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 61 ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องติดตามไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงปรับตัวลดลงในบางรายการส่งผลกระทบต่อรายได้ครัวเรือนเกษตร ในขณะเดียวกันราคาพืชผักบริโภคในเดือนต.ค.61 ก็คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์ในช่วงเทศกาลกินเจ (9-17 ต.ค.61) นอกจากนี้ ยังต้องติดตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อาจจะมีผลกระทบต่อระดับราคาพลังงานในประเทศ และการปรับตัวของผู้ประกอบการ รวมถึงมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ทยอยออกมาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 61