นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2–7 ตุลาคม 2561 ผู้แทนกรมการค้าต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุม Second Dialogue on Export Control Governance ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐจากต่างประเทศจำนวน 25 ประเทศ จากภูมิภาคแอฟริกา อาเซียน และประเทศสมาชิกระบอบการควบคุมการส่งออกสากล (Export Control Regimes) ซึ่งจัดโดยโครงการควบคุมการส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทางของสหภาพยุโรป (EUP2P) ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม
การประชุมครั้งนี้ นับเป็นโอกาสดีที่ไทยได้รับทราบถึงสถานะการดำเนินงานล่าสุดของประเทศต่างๆ ในการควบคุมสินค้าที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Transfer of Technology: ITT) และความคืบหน้าการพัฒนาระบบการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (TCWMD) ซึ่งผู้แทนจากประเทศต่างๆ ได้ให้ความสำคัญกับการควบคุมสินค้า ITT โดยจัดอบรมให้ความรู้และจัดทำระบบงานการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธ WMD ภายในองค์กร (Internal Compliance Program: ICP) ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสถาบันการศึกษา เนื่องจากสินค้า ITT เป็นประเด็นที่ท้ายและเทคโนโลยีสมัยใหม่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ไทยยังรับทราบความคืบหน้าของการพัฒนาระบบ Export Control ของประเทศต่างๆ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ลาว และญี่ปุ่น โดยปัจจุบันฟิลิปปินส์มีกฎหมาย The Strategic Trade Management Act รวมทั้งบัญชีสินค้าควบคุมในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยจะมีการขึ้นทะเบียนและขออนุญาตส่งออกในปี 2562 ในขณะที่ลาวอยู่ระหว่างการนำกฎหมายเดิมมาบังคับใช้ในเบื้องต้นก่อน และมีแนวทางเช่นเดียวกับไทยที่มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งมีกรมนำเข้าและส่งออก (Department of Export and Import) กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ (Ministry of Industry and Commerce) เป็นหน่วยงานหลักในการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ WMD
ประเทศญี่ปุ่น ได้ปรับบทลงโทษภายใต้กฎหมาย The Foreign Exchange and Foreign Trade Control Act (FEFTA) จากเดิมปรับผู้กระทำความผิดสูงสุด 10 ล้านเยน และน้อยสุด 5 ล้านเยน เปลี่ยนเป็นโทษปรับระหว่าง 1 พันล้านเยนและ 10 ล้านเยน และให้ความสำคัญในการควบคุมสินค้า ITT โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษา รวมทั้งประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ WMD ได้ เช่น เทคโนโลยีการผลิตด้วยวิธีเพิ่มเนื้อวัสดุ (Additive Manufacturing) หรือการพิมพ์สามมิติ (3D Printing) ซึ่งไม่ได้อยู่ในบัญชีควบคุมแต่เป็นเทคโนโลยีการผลิตใหม่ที่มีความซับซ้อนและสามารถสร้างรูปร่างในการออกแบบที่หลากหลาย ล่าสุด EU อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยน EU List จาก ปี ค.ศ.2017 (พ.ศ.2560) เป็นปี ค.ศ.2018 (พ.ศ.2561) โดยอยู่ระหว่างการสรุปบัญชีและนำเสนอ EC และรัฐสภา เพื่อลงนามประกาศใช้บังคับประเทศสมาชิกระบอบการควบคุมการส่งออกสากลภายในเดือนธันวาคม 2561
นายอดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมฯ ยินดีและชื่นชมไทยที่ประสบความสำเร็จในการจัดทำร่าง พ.ร.บ. TCWMD และเห็นด้วยกับแนวทางการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อระบบ TCWMD รวมทั้งระบบงาน ICP ในเชิงลึกทั่วประเทศ ซึ่งระบบ ICP เป็นกลไกภายในองค์กรในการช่วยภาครัฐตรวจสอบการใช้และผู้ใช้ DUI สุดท้าย ซึ่งต่างจากประเทศอื่นที่กำหนดให้ระบบงาน ICP เป็นเพียงเครื่องมือการขออนุญาตแบบรายปีเท่านั้น นับเป็นก้าวสำคัญของไทยในการแสดงความพร้อมและศักยภาพด้านการบริหารระบบ TCWMD ในอนาคต
นอกจากนี้ ลาวเป็นอีกหนึ่งประเทศ landlocked ที่น่าจับตามองในสมาชิกอาเซียนซึ่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบ TCWMD มากขึ้น และคาดว่าจะออกกฎหมาย TCWMD เร็วๆ นี้ รวมทั้งฟิลิปปินส์ได้ประกาศกฎหมายฯ ใช้ก่อนโดยปราศจากระบบ TCWMD เพื่อแสดงเจตนารมย์ว่าสามารถดำเนินการตามข้อมติ UNSCR 1540 ให้เป็นที่ยอมรับแก่ประเทศนานาชาติได้